จิปาถะ

เปิด 10 เส้นทางการบิน ตกหลุมอากาศมากที่สุดในโลกปี 2023


28 พฤษภาคม 2567

เว็บไซต์พยากรณ์การเกิดหลุมอากาศเปิดเผยเส้นทางการบิน 10 เส้นทางทั่วโลกที่เมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา เผชิญหลุมอากาศมากที่สุด

SDJ - เปิด 10 เส้นทางการบิน ตกหลุมอากาศมากที่สุ.jpg


ข่าวการตกหลุมอากาศของเครื่องบินสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ส เที่ยวบินที่ SQ321 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 1 รายและบาดเจ็บหลายสิบคน ได้ทำให้เกิดกระแสความกังวลไม่น้อยเกี่ยวกับอันตรายของการนั่งเครื่องบินโดยสาร

หลุมอากาศ เป็นปรากฏการณ์ปกติที่เกิดขึ้นกับเกือบทุกเที่ยวบินบนโลก เกิดจากการเคลื่อนตัวของอากาศอย่างกะทันหันและผิดปกติ ทำให้เกิดกระแสลมขึ้นและลงอย่างรวดเร็วและฉับพลัน ส่งผลกระทบต่อเครื่องบินโดยไม่คาดคิด

แต่หลุมอากาศนั้นทำให้เกิดอันตรายต่อเครื่องบินโดยสารในยุคปัจจุบันได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยอาจทำให้เกิดความตื่นตระหนก ส่วนผู้ที่บาดเจ็บส่วนใหญ่เกิดจาก “ผู้โดยสารไม่รัดเข็มขัด”

หลุมอากาศรุนแรงนั้นเป็นเหตุการณ์ที่พบได้ยากมาก ตัวเลขบางส่วนระบุโอกาสที่เที่ยวบินจะได้รับผลกระทบจากหลุมอากาศรุนแรง มีเพียง 1 ใน 50,000 เที่ยวบินเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สภาวะที่เกิดจากภาวะโลกร้อนส่งผลให้เราอาจเห็นหลุมอากาศเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยในอนาคต จากข้อมูลของสำนักงานบริการการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา จำนวนการบาดเจ็บโดยเฉลี่ยที่เกี่ยวข้องกับหลุมอากาศรุนแรงในสหรัฐฯ อยู่ที่ 33 รายต่อปี

คำถามสำคัญที่หลายคนอยากทราบคือ เส้นทางการบินใดบ้าง ที่มีโอกาสหรือความเสี่ยงเจอหลุมอากาศ

คนที่จะตอบคำถามนี้ได้คือ “Turbli” (https://turbli.com/) เว็บไซต์พยากรณ์การเกิดหลุมอากาศที่สร้างฐานข้อมูลจากข้อมูลพยากรณ์หลุมอากาศขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NOAA) และข้อมูลพยากรณ์เมฆพายุฝนฟ้าคะนองของกรมอุตุนิยมวิทยาสหราชอาณาจักร (UK Met Office)

Turbli วิเคราะห์เส้นทางการบินทั้งหมด 150,000 เส้นทาง เฉพาะเส้นทางการบินที่ดำเนินการอยู่ ณ เดือน ธ.ค. 2023 เท่านั้นที่ได้รับการจัดอันดับ โดยพิจารณาจากอัตรา eddy dissipation rate (edr) หรือ “การวัดความรุนแรงของหลุมอากาศ ณ จุดที่กำหนด” ซึ่งแบ่งเป็นระดับเบา (0-20), ปานกลาง (20-40), รุนแรง (40-80) และรุนแรงมาก (80-100)

10 เส้นทางการบินที่ตกหลุมอากาศมากที่สุดในปี 2023 มีดังนี้
  • ซานติอาโก (SCL) – ซานตาครูซ (VVI) ระยะทาง 1905 กม. ความรุนแรงเฉลี่ย 17.568 edr
  • อัลตามี (ALA) – บิชเคก (FRU) ระยะทาง 210 กม. ความรุนแรงเฉลี่ย 17.457 edr
  • หลานโจว (LHW) – เฉิงตู (CTU) ระยะทาง 661 กม. ความรุนแรงเฉลี่ย 16.75 edr
  • โทโคนาเมะ (NGO) – เซ็นได (SDJ) ระยะทาง 517 กม. ความรุนแรงเฉลี่ย 16.579 edr
  • มิลาน (MXP) – เจนีวา (GVA) ระยะทาง 214 กม. ความรุนแรงลี่ย 16.398 edr
  • หลานโจว (LHW) – เซียนหยาง (XIY) ระยะทาง 519 กม. ความรุนแรงเฉลี่ย 16.337 edr
  • โฮซากา (KIX) – เซ็นได (SDJ) ระยะทาง 655 กม. ความรุนแรงเฉลี่ย 16.307 edr
  • เซียนหยาง (XIY) – เฉิงตู (CTU) ระยะทาง 624 กม. ความรุนแรงเฉลี่ย 16.25 edr
  • เซียนหยาง (XIY) – ฉงชิ่ง (CKG) ระยะทาง 561 ความรุนแรงเฉลี่ย 16.041 edr
  • มิลาน (MXP) – ซูริค (ZRH) ระยะทาง 203 กม. ความรุนแรงเฉลี่ย 16.016 edr

จากอันดับข้างต้นจะพบว่า การเดินทางระหว่างซานติเอโก ประเทศชิลี และสนามบินนานาชาติวิรูวิรูในโบลิเวีย มีหลุมอากาศมากที่สุด ตามด้วยเส้นทางระหว่างอัลมาตีในคาซัคสถาน และเมืองหลวงของคีร์กีซสถาน บิชเคก

ที่น่าสนใจคือ จาก 10 อันดับแรก มีถึง 6 เส้นทางที่เกิดขึ้นในเอเชีย หรือถ้าเฉพาะเจาะจง คือเป็นเส้นทางภายในประเทศญี่ปุ่นและจีน ขณะที่เส้นทางยุโรป 2 เส้นทางก็มีจุดสำคัญที่เมืองมิลานของอิตาลี

อิกนาชิโอ กัลเลโก มาร์กอส ผู้ก่อตั้ง Turbli อธิบายว่า มิลานมีหลุมอากาศมากเนื่องจากเส้นทางบินมักผ่านเหนือเทือกเขาแอนดีสหรือเทือกเขาแอลป์ ส่วนเส้นทางในญี่ปุ่นและจีนมีความผันผวนเนื่องจากมีกระแสเจ็ตสตรีม (ลมแรงที่พัดมาจากตะวันตกไปตะวันออก) ที่สูง

นอกจากนี้ Turbli ยังจัดอันดับ 10 สนามบินที่เกิดหลุมอากาศมากที่สุดในปี 2023 ด้วย ได้แก่

  • ซานติอาโก (SCL) ประเทศชิลี ความรุนแรงเฉลี่ย 17.137 edr
  • นาโตริ (SDJ) ประเทศญี่ปุ่น ความรุนแรงเฉลี่ย 16.657 edr
  • เวลลิงตัน (WLG) ประเทศนิวซีแลนด์ ความรุนแรงเฉลี่ย 16.318 edr
  • ซัปโปโร (CTS) ประเทศญี่ปุ่น ความรุนแรงเฉลี่ย 16.305 edr
  • โอซากา (KIX) ประเทศญี่ปุ่น ความรุนแรงเฉลี่ย 16.120 edr
  • บิชเคก (FRU) ประเทศคีร์กีซสถาน ความรุนแรงเฉลี่ย 15.993 edr
  • โทโคนาเมะ (NGO) ประเทศญี่ปุ่น ความรุนแรงเฉลี่ย 15.885 edr
  • หลานโจว (LHW) ประเทศจีน ความรุนแรงเฉลี่ย 15.800 edr
  • โตเกียวฮาเนดะ (HND) ประเทศญี่ปุ่น ความรุนแรงเฉลี่ย 15.545 edr
  • ไครสต์เชิร์ช (CHC) ประเทศนิวซีแลนด์ ความรุนแรงเฉลี่ย 15.482 edr

ทั้งนี้ อย่างที่ระบุไปข้างต้นว่า หลุมอากาศเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติ แต่มักเกิดขึ้นกะทันหันและยากต่อการคาดการณ์ แต่ใม่เป็นอันตรายต่อเครื่องบิน ดังนั้น ผู้โดยสารสามารถโดยสารด้วยเครื่องบินได้อย่างสบายใจ เพียงแต่ควรปฏิบัติตามหลักความปลอดภัย ด้วยการรัดเข็มขัดแม้ในช่วงเวลาที่ไฟสัญญาณรัดเข็มขัดดับลงก็ตาม

เรียบเรียงจาก Independent / Turbli


ที่มา : https://www.pptvhd36.com/