จิปาถะ

ไขข้อสงสัย ทำไม "ไข่ไก่" ถึงปรับราคาขึ้น


29 พฤษภาคม 2567

ไขข้อสงสัย.jpg

‘ไข่ไก่
’ ซึ่งเป็นอาหารที่ทุกบ้านต้องมีติดไว้ เพราะเป็นอาหารที่ทำง่ายและรับประทานกันได้ทุกเพศทุกวัย เป็นวัตถุดิบที่ขึ้นชื่อว่ามีราคาที่ถูกและสามารถหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด อีกทั้งยังมีคุณค่าทางสารอาหารอีกมากมาย


ไข่ไก่ปรับราคาเป็นฟองละ 4 บาท

หลังจากที่วันที่ 28 พ.ค.2567 เครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ทั้งผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว, สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี, สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูน และสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ลุ่มแม่น้ำน้อย ออกประกาศปรับราคาไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกรขึ้นอีกฟองละ 20 สตางค์ หรือแผงละ 6 บาท ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค.นี้เป็นต้นไป ส่งให้ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มปรับจากฟองละ 3.80 บาท เป็น 4 บาท การปรับราคาขึ้นครั้งนี้ ห่างจากการปรับราคาขึ้นครั้งก่อนหน้า 1 เดือน โดยเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 ไข่ไก่ปรับจากฟองละ 3.60 บาท เป็น 3.80 บาท

เพราะอะไร ทำไม ไข่ไก่ถึงปรับราคา

ทางด้าน นายชาณุวัฒณ์ สิวะโมกข์ รองเลขานุการสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ ได้ให้ข้อมูลว่า….ระยะนี้ปริมาณไข่ไก่ในตลาดลดลงเนื่องจากไก่ออกไข่น้อย ปีนี้พลิกผันจากอากาศร้อนจัดเป็นฝนตกชุก ทำให้ไก่เครียดและป่วย เกษตรกรรายย่อยบางรายที่ทำโรงเรือนแบบระบบเปิด ไก่ปรับตัวไม่ทันในช่วงเปลี่ยนฤดูทำให้เป็นหวัด ปริมาณไข่ไก่ในฟาร์มลดลงถึง 50% ก็มี ส่วนฟาร์มที่เป็นโรงเรือนปิดแบบอีแวปจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า โดยภาพรวม ปริมาณไข่ไก่ในตลาดลดลงประมาณ 3 – 5% นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยความต้องการบริโภคไข่ไก่สูงขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงเปิดภาคเรียน ขณะที่ผู้เลี้ยงประสบภาวะต้นทุนอาหารสัตว์ โดยเฉพาะข้าวโพดซึ่งเป็นอาหารสำคัญของไก่ราคาสูงขึ้น

สำหรับการปรับขึ้นราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเป็นฟองละ 4 บาทนี้ จะทำให้ราคาเท่ากับช่วงไตรมาสที่ 3 – 4 ของปี 2566 ต่อมาในช่วงต้นปี 2567 ราคาไข่ไก่ลดลงเหลือฟองละ 3.50 บาท แม้ผู้เลี้ยงต้องการให้ราคาปรับขึ้นเนื่องจากปัญหาต้นทุนการผลิต แต่ในไตรมาสที่ 1 ราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มอยู่ในเกณฑ์ไม่ดี จนมีการปรับขึ้นเป็นฟองละ 3.60 บาท ในวันที่ 17 เมษายน หลังจากที่สภาพอากาศร้อนจัด ส่งผลทั้งต่อปริมาณและขนาดของไข่ไก่ แล้วปรับขึ้นอีกครั้งวันที่ 29 เมษายน เป็น 3.80 บาท แล้วเป็น 4 บาทในวันนี้ ( 29 พ.ค.)

กว่าจะได้ไข่แต่ละฟองนเกษตรกรต้องเจออะไรบ้าง

ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่าง ต่อเนื่องจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เป็นสัดส่วนประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ของต้นทุนการผลิตไข่ไก่ จึงทำให้มีความจำเป็นต้องปรับราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มขึ้นเพื่อให้ สามารถประกอบกิจการอยู่ได้ ขณะนี้ไข่ไก่ไม่ได้เป็นสินค้าควบคุม แต่ในการกำหนดราคาโดยอิงจากราคาของสมาคมผู้ผลิตผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่

ปัจุบันผู้เลี้ยงไก่ไข่ในประเทศไทย แบ่งออกเป็น

1. ผู้เลี้ยงไก่ไข่อิสระ

2. ผู้เลี้ยงไก่ไข่ครบวงจร

3. ผู้เลี้ยงไก่ไข่พันธสัญญา

ปัญหาการผูกขาดการนำเข้าพันธุ์ไก่ไข่ส่งผลกระทบต่อปัญหาการผลิตไข่ไก่ดังนี้

  • พ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่มีราคาแพง ราคาลูกไก่/ไก่สาวสูงอย่างไม่เป็นธรรม
  • ผู้เลี้ยงได้รับพันธุ์ไก่ล่าช้าทำให้เกิดปัญหาการจัดการและค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มขึ้น 
  • เกษตรกรถูกกดดันไม่ให้ร้องเรียนเรื่องปัญหาขาดแคลนลูกไก่พันธุ์ต่อหน่วยงานราชการ มิฉะนั้นจะไม่ได้รับไก่มาเลี้ยงอีกเลย
  • เกษตรกรรายย่อยถูกบังคับทางอ้อมให้ซื้ออาหารสัตว์และยาสัตว์จากบริษัทใหญ่
  • ผู้เลี้ยงรายย่อยต้องเลิกกิจการ แต่ฟาร์มขนาดใหญ่และของบริษัทขยายตัวมากขึ้น

เลี้ยงไก่ไว้กินไข่เองคุ้มไหม

การเลี้ยงไก่ไข่จำนวนน้อยๆเพื่อไว้เก็บไข่กินภายในครัวเรือนนั้น ถือว่ามีประโยชน์และมีผลพลอยได้อีกหลายอย่าง สำหรับใครที่อยากเลี้ยงไก่ไข่ไว้กินเอง สายพันธุ์ไก่ไข่ที่คนนิยมเลี้ยงมากที่สุดมีอยู่ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ โรดไทย บาร์พลีมัทร็อก และเลกฮอร์นขาวหงอนจักร ฯลฯ ไก่ไข่สามารถออกไข่ได้ถึง 3 ปี โดยจะลดน้อยลงหลังจาก 1 ปีแรกที่ออกไข่ นอกจากนี้ อากาศที่ร้อนเกินไปยังทำให้ไก่ออกไข่ได้น้อยลง แล้วต้องเลี้ยงกี่ตัวถึงจะพอกิน ถ้าอยู่กันแค่ 2 คน แม่ไก่ 3 ตัวก็พร้อมจะออกไข่ให้วันละ 2 ฟองแล้ว อยากได้แค่ไหนก็คูณจำนวนเฉลี่ยได้เลย

การเลี้ยงไก่ไข่เองนั้น ไก่ส่วนใหญ่ก็จะกินอาหารที่เป็นธรรมชาติ ปลอดจากสารกระตุ้นหรือเคมีต่างๆ ทำให้เราได้กินไข่ที่สด สะอาด ปลอดภัย ส่งผลดีต่อสุขภาพ และหากเราเหลือกินแล้วก็สามารถขายเพื่อเป็นรายได้เสริมอีกทาง

ที่มา : https://www.komchadluek.net/kom-lifestyle/general-knowledge/575662