Wealth Sharing

“เถ้าแก่น้อย” ขยายตลาดอินโดฯ แต่งตั้งตัวแทนจำหน่าย ปูเส้นทางสู่แบรนด์ระดับโลก


30 พฤษภาคม 2567
TKN เปิดตัว PT Sukanda Djaya เป็น Distributor ในอินโดนีเซีย เพื่อขยายตลาดผลิตภัณฑ์สาหร่ายเถ้าแก่น้อย เร่งเครื่องขยายพอร์ตผลิตภัณฑ์สาหร่าย หนุนเป้ายอดขายรวมปีนี้เติบโต 15% แย้มมองหาโอกาสขยายต่างประเทศต่อเนื่อง ก้าวสู่ Global Brand ในอนาคต

WS (เว็บ) “เถ้าแก่น้อย” ขยายตลาดอินโดฯ_0.jpg

นายอิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN เปิดเผยว่า บริษัทมองเห็นโอกาสขยายตลาดในอินโดนีเซีย จึงได้ร่วมมือกับ PT Sukanda Djaya เพื่อเป็นตัวแทนจำหน่าย (Distributor Partner) สินค้าของบริษัท ในประเทศอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการ 

ทั้งนี้เพื่อขยายผลิตภัณฑ์สาหร่ายเถ้าแก่น้อย ผ่านช่องทางจำหน่ายหลากหลายกลุ่ม ทั้งช่องทาง Modern Trade (MT), ช่องทาง Traditional Trade (TT) และ Horeca รวมถึงช่องทาง E-commerce ซึ่งเป็นส่วนที่พันธมิตรมีความเชี่ยวชาญ และมองว่ามีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก 

อีกทั้งเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้างมากขึ้น โดยปัจจุบัน บริษัทฯ มีสัดส่วนยอดขายจากอินโดนีเซีย 15% จากยอดขายตลาดต่างประเทศ และคาดว่ายอดขายในอินโดนีเซียจะเติบโตมากกว่า 30% หรือ มียอดขายระดับ 600 ล้านบาทในปี 2567  พร้อมเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดผลิตภัณฑ์สาหร่าย เพื่อยกระดับแบรนด์ “เถ้าแก่น้อย” สู่ Global Brand ในอนาคต

นอกจากนี้บริษัทยังมองหาโอกาสเพิ่มตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นบริษัทที่มีศักยภาพ เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายกว่า 50 ประเทศ โดยบประเทศที่มียอดขายสูง 5 อันดับแรก คือ หลัก จีน, อินโดนีเซีย มาเลเซีย  สหรัฐอเมริกา และแคนนาดา โดย ณ ไตรมาส 1/67 ยอดขายในตลาดต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนรายได้กว่า 65% ของยอดขายรวม

สำหรับภาพรวมแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2567 คาดว่ายอดขายจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับวางเป้าหมายปี 25567 จะมียอดขายรวมเติบโต 15% ผ่านช่องทางการเติบโตจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ 
ส่วนประเด็นต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 50% แต่ด้วยความเชียวชาญของบริษัทที่อยู่ในธุรกิจนี้มานานทำให้มีความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้มีวัตถุดิบเพียงพอที่จะรองรับการเติบโตตามเป้าหมาย นอกจากนี้บริษัทยังมีการบริหารจัดการต้นทุนอย่างต่อเนื่อง จึงคาดว่าภาพรวมทั้งปี 2567 จะมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ในระดับเดิมที่ทำไว้ได้

“เราเดินหน้ากลยุทธ์ “3GO” อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลยุทธ์ "GO Broad" คือการขยายธุรกิจให้กว้างขึ้น โดยไม่ได้จำกัดการผลิตและจำหน่ายสินค้าในรูปแบบเดียว แต่จะพัฒนาสินค้ากลุ่มใหม่ๆ เพื่อขยายพอร์ตสินค้า พร้อมมุ่งเน้นบริหารจัดการยอดขาย (Revenue Management) ด้วยการบริหารสินค้าและช่องทางการขายที่มีกำไรดี (Product Mix and Channel Mix) ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเติบโตอย่างน้อย 15% ผ่านช่องทางทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีศักยภาพ ทั้งนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้าขยายตลาดใน 5 ตลาดหลัก ได้แก่ ตลาดในประเทศ ตลาดสหรัฐอเมริกา ตลาดอินโดนีเซีย ตลาดมาเลเซีย และตลาดจีน” นายอิทธิพัทธ์ กล่าว

นายวชิระ ญาณทัศนกิจ ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มงานการค้าต่างประเทศ TKN กล่าวว่า อินโดนีเซียเป็นตลาดมุสลิมที่นิยมการบริโภคสาหร่ายเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาและมีศักยภาพการเติบโตสูง ในการปรับเปลี่ยนตัวแทนจัดจำหน่ายรายใหม่เมื่อปลายปี 2566 เพื่อมุ่งเน้นการขยายช่องทางการขายที่กว้างขึ้น 

พร้อมเดินหน้าตอกย้ำการทำตลาดในกลุ่มผู้บริโภคชาวมุสลิมให้มากขึ้น โดยเน้นการสื่อสารผ่าน Key Opinion Leader (KOLs) หรือ Influencer ที่เป็นชาวมุสลิม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มผู้บริโภค รวมถึงจัดกิจกรรมทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง อาทิ กิจกรรม Food Truck จัดบูทชงชิม แจกสินค้าตัวอย่าง เป็นต้น 

ล่าสุด ในช่วงเทศกาลสำคัญอย่างเช่น รอมฎอน (ถือศีลอด) ได้ร่วมกับพันธมิตรออกบูธในงาน Jakarta Lebaran Fair ที่กรุงจาการ์ตา ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค 

“การสร้างแบรนด์ไทยให้เติบโตและมีชื่อเสียงในระดับโลก ต้องเริ่มจากการสร้างรากฐานของแบรนด์ให้แข็งแกร่ง เถ้าแก่น้อย จึงได้รุกสร้างการเติบโตในตลาดต่างประเทศอย่างเต็มกำลัง โดยในแต่ละประเทศมีทิศทางและการทำงานที่ต้องปรับให้เข้ากับพฤติกรรมการบริโภค วัฒนธรรมและไลฟ์สไตล์ ความเป็นอยู่ของผู้บริโภคในประเทศนั้นๆ ซึ่งการร่วมมือกับ PT Sukanda Djaya ในครั้งนี้ ช่วยสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันจากพันธมิตรที่แข็งแกร่งและการกระจายสินค้าในทุกช่องทางจัดจำหน่ายของเถ้าแก่น้อยทั่วประเทศอินโดนีเซีย” นายวชิระ กล่าว

สำหรับปัจจุบัน เถ้าแก่น้อยมีสินค้าอยู่บนชั้นวางสินค้าครอบคลุม Modern Trade ในอินโดนีเซียกว่า 80% และยังสามารถเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะช่องทาง Traditional Trade และ E-Commerce  นอกจากนั้น เราได้มีการขยายตลาดสินค้ากลุ่มสาหร่ายอบ ที่จับกลุ่มผู้บริโภคที่รับประทานเป็นอาหารหรือทานคู่กับอาหาร นับเป็นฐานผู้บริโภคกลุ่มใหม่ นอกเหนือจากกลุ่มตลาดขนมขบเขี้ยว