โลกธุรกิจ

กระตุ้นชีพจร “ตลาดหุ้นไทย” ด้วยเครื่องมือที่ชื่อว่า “กองทุน LTF”


02 มิถุนายน 2567

หลังจากที่นักลงทุนชาวไทยอย่างเราๆ กำลังรอกลุ่มผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสมาคม บลจ. สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และกระทรวงการคลัง พิจารณาอนุมัติการนำกองทุนเพื่อการออมระยะยาว (LTF) กลับมาใช้อีกครั้งนั้น

กระตุ้นชีพจร ตลาดหุ้นไทย copy.jpg

หลายฝ่ายมองเป็นเสียงเดียวกันกันว่าจะส่งผลดีต่อภาพรวมของตลาดหุ้นไทย ในหลายๆด้าน แต่นักลงทุนรายย่อยอย่างเราก็เกิดคำถาม เอ๊ะ!ในใจว่า แล้วยกเลิกไปทำไมกันนะ

โดยนักวิเคราะห์มีมุมมองในลักษณะเดียวกันว่า จะช่วยหนุนตลาดกลับมาคึกคัก ช่วยลดความผันผวนจากการถูก Short sell และจะส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยมีเม็ดเงินไหลเข้ากว่า 40,000-50,000 ล้านบาทต่อปี

ยกตัวอย่างเช่น นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) มองจิตวิทยาบวกต่อ SET หุ้นในกลุ่ม SET50/100หากอิงเม็ดเงิน LTF ในช่วง 3ปีสุดท้าย (2017-19)ที่สูงเฉลี่ยปีละ 6.8 หมื่นล้านบาท 

หากอิงผลศึกษารอบวงจรเศรษฐกิจคล้ายปัจจุบันปี 2012-13 พบว่า จากการศึกษาความสัมพันธ์ ส่วนต่างเม็ดเงิน LTF ที่เข้ามารายวัน กับส่วนต่างดัชนีรายวันที่ปรับขึ้นภายใต้วิธีสัมประสิทธิ์ถดถอย ทุกๆ1 หมื่นล้านบาท จะหนุน SET ปรับตัวขึ้นราว 20จุด 

ส่วนกรณีที่ใช้ความสัมพันธ์ยอดเงิน LTF สะสมกับ ระดับดัชนีสะสม ทุกๆ1หมื่นล้านบาท จะหนุน SET 50จุด เบื้องต้นเรามองเป็นจิตวิทยาบวกต่อหุ้น SET50/100

สำหรับรูปแบบหน้าตาของกอง LTF นั้น นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ประเมินว่ารายละเอียดหน้าตาของกองทุนรูปแบบใหม่ อาจมีความเป็นไปได้ดังนี้

1)ลดระยะเวลาการถือครองลง เมื่อเทียบกับกองทุนจำพวก SSF/Thai ESG ที่บังคับการถือครองครบ 10 1/8 ปีนับจากวันที่ซื้อ เช่นอาจลดลงเหลือ 5 ปีจากวันที่ซื้อ หรือเปลี่ยนกลับมาเป็น 7 ปีปฏิทินคล้ายรูปแบบกองทุน LTF เดิม

2) มีนโยบายการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเท่านั้น คล้ายกับกองทุน LTF/SSFX/Thai ESG ก่อนหน้านี้

3) เพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีต่อรายให้มากขึ้นกว่าเดิม อาทิเช่น ไม่เกิน 5 แสนบาท/2แสนบาท คล้ายกับกองทุน LTF/SSFX ในอดีต และเป็นวงเงินที่ไม่นำไปนับรวมกับโควตาของกองทุน RMF/SSF อื่น

รวมถึง SCB CIO มองฟื้นกองทุน LTF หนุนนักลงทุนสร้างวินัยการออมระยะยาวอีกครั้ง คาดจะมีเม็ดเงินไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทย 4-5 หมื่นล้านต่อปี หนุนตลาดกลับมาคึกคัก ช่วยลดความผันผวนจากการถูก Short sell และลดเงินทุนไหลออกจากแรงขายของนักลงทุนสถาบัน

โดยนายศรชัย สุเนต์ตา รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ได้วิเคราะห์ผลที่จะเกิดขึ้นต่อตลาดหุ้นไทย 

ในกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีแนวคิดผลักดันให้นักลงทุนสามารถกลับมาใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund : LTF) ได้อีกครั้ง โดยมีมุมมองว่า ปัจจัยนี้เป็นปัจจัยบวกสนับสนุนดัชนีตลาดหุ้นไทย โดยช่วยลดเงินทุนไหลออก ลดแรงขายของนักลงทุนสถาบันในประเทศลงได้

จากการรวบรวมสถิติในอดีต พบว่า ในช่วง 7 ปีสุดท้ายก่อนที่การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการลงทุนใน LTF จะหมดลง มีเม็ดเงินไหลเข้ามาลงทุนใน LTF ประมาณ 5-7 หมื่นล้านบาทต่อปี และหากคิดเป็นยอดเงินลงทุนสุทธิ โดยคำนวณจากเงินที่ไหลเข้ามาลงทุน หักเงินที่ไถ่ถอนหน่วยลงทุนออกไป ก็ยังสูงถึง 2-3 หมื่นล้านบาทต่อปี 

แต่เมื่อการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสิ้นสุดลง ในปี 2562 พบว่า มีเงินไหลออกจากกองทุน LTF ประมาณ 2 หมื่นล้านบาทต่อปี ขณะที่ ยอดเงินคงค้างที่อยู่ในกองทุน LTF โดยรวม ในปี 2562 เคยอยู่ที่ประมาณ 4 แสนล้านบาท ก็ลดลงไปค่อนข้างมาก โดยเหลือเพียง 2.47 แสนล้านบาท ในเดือน เม.ย. 2567

ฉะนั้นหากกองทุน LTF กลับมาใช้สิทธิประโยชน์ภาษีได้อีกครั้ง และเป็นไปตามที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ ก็จะมีเม็ดเงินไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทยประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งเราคาดว่าเงินบางส่วนจะมาจากเงินที่เคยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ และเงินลงทุนใหม่

“หากเงื่อนไขการลงทุนใน LTF ที่จะนำกลับมาใหม่นี้ ไม่นำยอดเงินลงทุนเพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีไปรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ,กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และ ประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่กำหนดยอดเงินลงทุนรวมกันไว้ไม่เกิน 500,000 บาท โดยแยกเงินลงทุน LTF ออกมาอีก จำนวน 500,000 บาท เหมือนในอดีตที่ผ่านมา อีกทั้งกำหนดเงื่อนไขระยะเวลาการถือครองที่น่าสนใจ เช่น กำหนด 5 ปี เหมือนในอดีต คาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินลงทุนในตลาดหุ้นไทยอีกประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท และน่าจะทำให้ตลาดหุ้นไทยกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง ” 

นอกจากนี้เอง กองทุน LTF จะช่วยลดความผันผวนของดัชนีตลาดหุ้นไทย จากการถูก short sell (การยืมหุ้นมาขายเพื่อทำกำไร เมื่อคาดว่าหุ้นนั้นจะปรับตัวลดลง) เนื่องจากเวลาที่หุ้นปรับตัวลดลง 

นักลงทุนก็จะมีแรงซื้อกองทุน LTF เข้ามาช่วยพยุงตลาดให้ปรับตัวดีขึ้นได้ อีกทั้ง LTF จะช่วยเพิ่มมูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นไทย ทำให้สภาพคล่องการซื้อขายดีขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศได้มากขึ้นด้วย

สำหรับ หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการกลับมาของกองทุน LTF นั้น เรามองว่า เป็นหุ้นขนาดใหญ่ใน SET100 (หุ้น 100 บริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดในตลาด) เนื่องจากหุ้นเหล่านี้มีสภาพคล่องการซื้อขายสูง มีปัจจัยพื้นฐานที่ดี 

สามารถถือลงทุนระยะยาวได้ อีกทั้งหุ้นหลายตัวใน SET100 เป็นหุ้นที่ให้เงินปันผลค่อนข้างดี และจากสถิติในอดีตพบว่า นักลงทุนสถาบันในประเทศ นิยมถือครองหุ้นขนาดใหญ่เป็นหลัก

SCB CIO มีมุมมองเป็นบวกมากขึ้นต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทย นอกเหนือจากแนวโน้มการกลับมาของกองทุน LTF แล้ว ตลาดหุ้นไทยยังมีแนวโน้มได้ปัจจัยหนุนจาก 

1) อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ที่ออกมาดีกว่าคาด ขณะที่ เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นได้ต่อในช่วงครึ่งปีหลัง 

2) การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ที่จะเร่งตัวขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 นี้ จะเป็นแรงหนุนภาคการลงทุนในประเทศ

3) ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน มีแนวโน้มถูกปรับประมาณการกำไรขึ้นในปีนี้ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และอุปสงค์จากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น หลังจากรัฐบาลจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 

4) ค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะกลับมาแข็งค่าในช่วงครึ่งหลังของปี หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับลดดอกเบี้ยลง และ 5) Valuation ดัชนีตลาดหุ้นไทยอยู่ในระดับที่ไม่แพง ณ ปัจจุบันซื้อขายด้วยราคาต่อกำไรต่อหุ้นในระยะ 12 เดือนข้างหน้า (Forward P/E) ที่ระดับ 14.6x ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง และเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่หลังเกิดวิกฤตโควิด-19

ด้วยเหตุนี้ จึงมีมุมมองว่า สามารถลงทุนกองทุนรวมหุ้นไทยเป็นส่วนหนึ่งในพอร์ตลงทุนหลักระยะยาว 1 ปีขึ้นไป (Core Portfolio) ได้ และยังสามารถลงทุนบนพอร์ตเสริมโอกาสระยะสั้น (Opportunistic Portfolio) ได้ในกรณีที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงสูง จากปัจจัยสนับสนุนที่เข้ามาในระยะใกล้ได้

โดยแนะนำให้ลงทุนผ่าน กองทุน SCBTHAICGA ซึ่งเป็นกองทุนทุนรวมหุ้นไทย ประเภทที่มีนโยบายการลงทุนเชิงรุก บริหารโดยผู้จัดการกองทุนชั้นนำ มีกลยุทธ์ในการเลือกหุ้นที่มี ธรรมาภิบาล (Governance) คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environment) หรือสังคม (Social) เป็นสำคัญ โดยกองทุนจะเน้นลงทุนในหุ้นเพียง 30 – 50 บริษัท แต่ยังมีการกระจายความเสี่ยงพอร์ตการลงทุนโดยลงทุนในหลากหลายอุตสาหกรรม