BTS กระอัก! งบปี 66/67 พลิกขาดทุน 5,241 ลบ. เหตุบุ๊กขาดทุนขายหุ้น “เคอรี่ เอ็กซ์เพรส”
ในปี 2566/67 บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีรายได้รวม จำนวน 24,387 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.0% หรือ 248 ล้านบาท จากปีก่อน รายได้ที่เพิ่มขึ้นมีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยรับ จำนวน 1,094 ล้านบาท
และรายได้จากการบริการและการขายที่เพิ่มขึ้น จำนวน 726 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหนุนจากการเติบโตของรายได้จากธุรกิจสื่อโฆษณา ภายใต้ธุรกิจ MIX และการรับรู้รายได้ค่าโดยสารของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพูเป็นครั้งแรก
ควบคู่กับการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ภายใต้ธุรกิจ MOVE อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของรายได้ดังกล่าวถูกหักกลบด้วย การลดลงของรายได้จากการให้บริการรับเหมา จำนวน 904 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพูภายหลังการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์
ทั้งนี้ บีทีเอส กรุ๊ป บันทึก กำไรจากการดำเนินงานที่เกิดขึ้นเป็นประจำก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยและภาษี (Recurring EBITDA) จำนวน 8,138 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.1% หรือ 469 ล้านบาท จากปีก่อนหน้า ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของ Recurring EBITDA ของธุรกิจ MOVE ซึ่งได้แรงหนุนจากการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยรับที่เกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าและส่วนแบ่งกำไรที่เพิ่มขึ้นจากเงินลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF)
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นดังกล่าวถูกหักกลบบางส่วนด้วย Recuring EBITDA ของธุรกิจ MIX ที่ลดลงสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารซึ่งเป็นผลจากการขยายธุรกิจบริษัท ซุปเปอร์ เทอร์เทิล จำกัด (มหาชน) (TURTLE)และบริษัท แรบบิท แคช จำกัด (RCash)
ควบคู่กับการเพิ่มขึ้นของส่วนแบ่งขาดทุนสุทธิจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม (ผลขาดทุนจากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นใน KEX และผลขาดทุนจากการดำเนินงานในบริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) (JMART) นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของผลขาดทุนจากการดำเนินงานในบริษัท แรบบิท โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (แรบบิท โฮลดิ้งส์) เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผลประกอบการของธุรกิจ MATCH ปรับตัวลง
ขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ จำนวน 5,241 ล้านบาทปัจจัยหลักจาก ผลกระทบจากการรับรู้รายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวของผลขาดทุนจากการด้อยค่าและจำหน่ายเงินลงทุนใน KEX การบันทึกส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม ส่วนใหญ่มาจากแรบบิท โฮล ดิ้งส์' ควบคู่กับส่วนแบ่งขาดทุนที่เพิ่มขึ้นจากเงินลงทุนใน KEX) และ ต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น