Wealth Sharing

กู้เงินมาแจก! เสี่ยงหนี้สาธารณะชนเพดาน 70% อาจทำให้ไทยถูกหั่น “เครดิตเรตติ้ง”


31 พฤษภาคม 2567
การเพิ่มงบประมาณกลางปีจำนวน 1.22 แสนล้านบาทของปี 2567 ทำโครงการ DIGITAL WALLET เติมเงิน 10,000 บาท แม้จะยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง แต่ยังมีความกังวลในเรื่องการเพิ่มภาระผูกพันให้กับประเทศ นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า ความท้าทายของรัฐบาลท่ามกลางภาระหนี้สาธารณะพุ่งสูง โดยการเพิ่มงบประมาณกลางปีจำนวน 1.22 แสนล้านบาทของปี 2567 เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ ผ่านการทำโครงการ DIGITAL WALLET เติมเงิน 10,000 บาท 

WS (เว็บ)_กู้เงินมาแจก! copy.jpg

ขณะที่กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2567 จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.6 ล้านล้านบาท ทำให้มีการปรับปรุงแผนการคลังระยะปานกลาง (ปี2568 –71) ครั้งที่ 2 โดยผลลัพธ์นำมาซึ่งงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้น รวมถึงหนี้สาธารณะ/GDP เสี่ยงปรับตัวสูง 68.9% ในปี 2570 (ใกล้เพดาน 70%)

สำหรับหนี้สาธารณะบ้านเราล่าสุดอยู่ที่ 11.47 ล้านล้านบาท ส่วนประมาณการ GDP อยู่ที่ 18.11 ล้านล้านบาท ฝ่ายวิจัยฯ ได้ประเมินสมมุติฐานต่างๆ พบว่า 

ในกรณี EXTREME CASE รัฐบาลสามารถก่อหนี้เพิ่มได้ราว 1.2 ล้านล้านบาท ภายใต้ GDP เท่าเดิม ก็ยังอยู่ในกรอบ 70% หนี้สาธารณะต่อ GDP หรือจะก่อหนี้เพิ่มขึ้นได้ถึง 1.8 ล้านล้านบาท หาก GDP เติบโตได้ 5% ในปีนี้ แต่ในทางกลับกับรัฐบาลจะทำให้ไม่สามารถก่อหนี้เพิ่มได้ กรณี GDP หดตัวราว 10% ในระยะข้างหน้า 

ข้อสังเกตหากเศรษฐกิจไทยโตปีละ 3%เทียบปีก่อน ในช่วง 4 ปีถัดไป (พ.ศ. 2568 - 2571) โดยมีเงื่อนไข 

1.มูลค่า GDP ปี 2567 ฉบับทบทวนเป็นฐานในการคำนวณ 

2. คาดการณ์หนี้สาธารณะคงค้างเป็นไปตามแผนการคลังระยะปานกลางฉบับล่าสุด จะส่งผลให้มูลค่า GDP ปี 2570 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 20.2 ล้านล้านบาท แต่หนี้สาธารณะคงค้างตามแผนฯ ปี 2570 สูงถึง 14.4 ล้านล้านบาท กดดันให้หนี้สาธารณะ/GDP เกินเพดานที่ 70% ได้ ถือเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการคลังในอนาคต

นอกจากนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะ/GDP ปัจจุบันที่ 63.37%อยู่ในระดับสูงสุดเมื่อเทียบกับการแก้ปัญหาวิกฤตในทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา (วิกฤต้มยำกุ้ง 50.2%, วิกฤตSUBPRIME 42.4%) และยังใกล้แตะกรอบเพดาน 70% 
ซึ่งในระยะข้างหน้าหากเกิดวิกฤตหนักอีกรอบ ทำให้รัฐบาลอาจต้องเผชิญกับความท้าทายในการรักษาเสถียรภาพการคลังของไทย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการถูกปรับลด CREDIT RATING

ดังนั้นการก่อหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น แม้จะยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง แต่ยังมีความกังวลในเรื่องการเพิ่มภาระผูกพันให้กับประเทศ ถือเป็นความท้าทายของรัฐบาล ที่ต้องจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ในเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อรักษาเสถียรภาพการคลัง ของบ้านเรา และลดความเสี่ยงต่อการถูกปรับลด CREDIT RATING