Talk of The Town

หุ้นไทยสาหัส! ต่างชาติเทขาย กดดัชนีดิ่งแรงสุดในเอเชีย


03 มิถุนายน 2567
ในช่วงเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยผันผวนอย่างมาก หากอิงข้อมูลดัชนีวันที่ 30 พ.ค.2567 ปิดการซื้อขายที่ระดับ 1,351.52 จุด ลดลงกว่า 16.43 จุด หรือลดลง 1.2% จากเดือนก่อนหน้า และลดลงกว่า 64.33 จุด จากดัชนีปิดสิ้นปี 2566

หุ้นไทยสาหัส! copy.jpg

ทั้งนี้ตลาดหุ้นไทยยังเผชิญแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ข้อมูล ณ วันที่ 30 พ.ค.2567 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยที่ระดับ 12,649.18 ล้านบาท ทำให้ภาพรวมปี 2567 (ข้อมูลสิ้นสุด วันที่ 30 พ.ค.2567) ขายสุทธิหุ้นไทยไปแล้วกว่า 78,061.72 ล้านบาท โดยมีเพียงนักลงทุนทั่วไป หรือรายย่อยเท่านั้นที่ซื้อสุทธิ 80,832.75 ล้านบาท

ขณะที่นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด มีความเห็นเกี่ยวกับดัชนีตลาดหุ้นไทยไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่า SET INDEX ยังอยู่ภายใต้แรงกดดันจากปัจจัยการเมือง ซึ่งส่งผลทำให้ FUND FLOW ไหลออก และ มูลค่าการซื้อขายเบาบาง 

แต่อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าระดับ SET INDEX ที่ 1,350 จุด เป็นระดับที่มีนัยสำคัญทาง VALUATION ไม่ว่าจะมองจาก MARKET EARNING YIELD GAP, PER หรือ PBV ที่บริเวณดังกล่าวจึงเป็นจุดที่เหมาะสำหรับการซื้อหุ้นสะสมเพื่อการลงทุนระยะยาว 

สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตาม นอกจากสถานการณ์การเมืองแล้ว ในเดือน มิ.ย.67 จะเป็นช่วงเวลาที่มีการประชุมธนาคารกลางหลายแห่ง โดยเชื่อว่าจะเริ่มเห็นการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย จาก ECB

ขณะที่ FED และ กนง. บ้านน่าจะคงดอกเบี้ยต่อไปอีกระยะหนึ่ง ส่วนประเด็นเรื่องหนี้สาธารณะก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องจับตา เนื่องจากกำลังใกล้เพดาน 70% ของ GDP ที่กำหนดไว้เป็นกรอบวินัยการคลัง

โดยแม้กำไรบริษัทจดทะเบียนงวดไตรมาส 1/67 ออกมา 2.76 แสนล้านบาท (เพิ่มขึ้น 50% จากไตรมาสก่อน และทรงตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดีกว่าที่ตลาดคาดถึง 19% แต่ความไม่แน่นอนทางการเมือง,MSCI REBALANCE, FUND FLOW ไหลออกในช่วงนี้ส่งผลให้เห็นการรบกวนตลาดเพิ่มเติม ด้วยการ SHORT SELL ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยฯ

โดยวันที่ 20 – 29 พ.ค. 67 มีปริมาณการ SHORT SELL เพิ่มเข้ามา 4 หมื่นล้านบาท เฉลี่ย 5.7 พันล้านบาทต่อวัน ผสมกับมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยตลาดหุ้นไทยในช่วงดังกล่าวกลับลดลงเหลือเพียง 3.96 หมื่นล้านบาทต่อวัน 

กดดันให้สัดส่วนการSHORT SELL ต่อของมูลค่าซื้อขายรวมเฉลี่ย ในช่วงเวลาดังกล่าวขยับขึ้นมาอยู่ที่13.5% สูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต (ปี 64 6.6%, ปี 65 9.7%, ปี 66 10.6%, ต้นปี 67 ถึงปัจจุบัน 11.9%)

อย่างไรก็ตาม ในเชิง VALUATION ตลาดหุ้นไทยมี P/E ที่ลดลงมาจนถูกมาก โดยเหลือ FORWARD P/E เพียง 14.4 เท่า (ลดลงจากปลายปี 2565 ที่ 16.6 เท่า) และต่ำกว่าตลาดหุ้นโลก MSCI ACWI ที่ปัจจุบันซื้อขายบน FORWARD P/E ที่18.4 เท่า (ที่ทยอยสูงขึ้นปลายปี 2565 ที่ 15.3 เท่า)

ส่วนในระยะถัดไป ฝ่ายวิจัยฯ เชื่อว่าแรงกดดันดังกล่าว ในเดือน มิ.ย. 67 มีโอกาสทยอยลดลง ทั้ง MSCI REBALANCE เสร็จสิ้น, การเมืองยังไม่นำไปสู่สถานะการณ์นอกกรอบกฎหมาย, หวังกระแส LTF ใหม่ ถ้าเกิดขึ้นเร็วจะช่วยเข้ามาทดแทน FUNDFLOW ต่างชาติที่ไหลออก
ที่สำคัญ หากตลาดฯ ประกาศใช้กฎ UPTICK RULE (คาดช่วงปลายไตรมาสที่ 2) น่าจะหนุนให้เกิดการ COVER SHORT SELL ได้ดีเพราะในอดีตช่วงโควิดมีการใช้กฎนี้ส่งผลให้ปริมาณการ SHORT SELL ลดลงไปกว่า 79% เลยทีเดียว

ขณะที่ข้อมูลจากนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ได้เผยแพร่ข้อมูลดัชนีตลาดหุ้นในประเทศหลักๆ ของแถบเอเชียไว้อย่างน่าสนใจ โดยในข้อมูลพบว่า ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงมากที่สุด เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ ในเอเชีย ซึ่งมีรายละเอียดผ่าน infographic ด้านล่างนี้

หุ้นไทยสาหัส! 1-1 copy.jpg