จิปาถะ

ทำไมให้อาหารนกพิราบ สามารถคร่าชีวิตคนได้


07 มิถุนายน 2567
จากความใจดี อาจนำไปสู่โรคร้ายแรง เมื่อการให้อาหารนกพิราบทำให้มนุษย์หลายคนติดเชื้อจากเชื้อราที่อันตรายถึงชีวิตได้

SDJ - ทำไมให้อาหารนกพิราบ สามารถคร่าชีวิตคนไ.jpg


จากกรณีหมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คว่าพบมีผู้ป่วยรายหนึ่งเป็นหญิงอายุ 52 ปี ไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ในร่างกาย แต่เมื่อไปตรวจร่างกายในวันที่ 12 พฤษภาคม 2024 กลับพบก้อนเนื้ออยู่ในปอดด้านขวา

ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้วเป็นการอักเสบจากเชื้อราที่ชื่อว่า ‘คริปโตคอคคัส นีโอฟอร์แมนส์’ (Cryptococcus Neoformans) ที่เป็นที่รู้กันดีว่ามากับมูลของนกพิราบ กลายเป็นสปอร์ และมนุษย์ก็สูดเข้าไปสู่ปอด ทำให้หน่วยงานสาธารณสุขหรือแม้แต่วัดก็มีการรณรงค์งดให้อาหารนกพิราบ เพื่อลดการกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค

ทั้งมีเชื้อรากว่า 1 ล้านถึง 3 ล้านสายพันธุ์บนโลก แต่ทำไมบางสายพันธุ์ถึงรุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่น และที่สำคัญ ทำไมต้องนกพิราบ?

ตามข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) ระบุว่าเชื้อรา Cryptococcus Neoformans เรียกสั้น ๆ ว่า C. neoformans และ C. gattii เป็นสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในกลุ่ม คริปโตคอคคัส มากที่สุด และทำให้เกิดผู้ป่วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบทั่วโลกปีละ 220,000 ราย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตราว 181,000 ราย โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

ทาง Joseph Heitman แพทย์-นักวิทยาศาสตร์และประธานภาควิชาอณูพันธุศาสตร์และจุลชีววิทยาที่โรงเรียนการแพทย์ มหาวิทยาลัย Duke ซึ่งได้ศึกษาเชื้อราชนิดนี้และเชื้อราอื่น ๆ มาตั้งแต่ปี 1994 กล่าวว่า

“มนุษย์สัมผัสกับมันได้โดยตรงโดยการหายใจเข้าเอาการกระจายของเชื้อโรคเข้าไป ซึ่งเป็นได้ทั้งเซลล์ยีสต์หรือสปอร์แห้ง” เขาอธิบาย “หลังจากติดเชื้อในปอดระยะแรก (เชื้อ) จะแพร่กระจายผ่านกระแสเลือดไปติดเชื้อในสมอง ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบ ดังนั้นผู้ป่วยอาจมีทั้งสองอาการคือโรคปอดและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ”

#มันเกี่ยวกับนกพิราบ

เชื้อราสกุล คริปโตคอคคัส นั้นถูกพบโดยเภสัชกรและนักสรีรวิทยาชาวเยอรมัน Friedrich Traugott Kützing ในปี 1833 โดยคำว่า ส่วน “Crypto” ของชื่อได้มาจากคำภาษากรีกโบราณ “คริปโตส” แปลว่า “ซ่อนเร้น” ส่วน “คอคคัส” แปลว่า “เบอร์รี่” ซึ่งสะท้อนถึงรูปร่างทรงกลมของเชื้อรา

แม้จะมีการถกเถียงเกี่ยวกับการจำแนกประเภทและการตั้งชื่ออยู่หลายครั้งแม้ในปัจจุบันก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องที่เราจะปล่อยให้นักวิทยาศาสตร์ปวดหัวกันไป แต่สิ่งที่คนทั่วไปจะปวดหัวได้ก็คือมันเป็นเชื้อที่มากับนกพิราบ ซึ่งทาง Chester Wilson Emmons ผู้เป็น Mycologist คนแรกของสถาบันสุขภาพแห่งชาติได้กล่าวในปี 1964

“มลูนกพิราบเก่าเป็นแหล่งเดียวที่เราสามารถพบเชื้อราจำนวนมากได้อย่างสม่ำเสมอ” นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า C. neoformans ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อนั้นเป็นสายพันธุ์ที่ชอบเดินทางอย่างยิ่ง มันสร้างสปอร์เล็ก ๆ ออกมาแล้วปล่อยให้กระจายไปทั่วในสิ่งแวดล้อม

แต่แทนที่จะเติบโตไปทั่ว ทว่า C. neoformans กลับเจริญเติบโตได้ดีในมูลนกพิราบ เมื่อนกพิราบถูกพาไปโดยนักเดินทางช่วงศตวรรษที่ 14 และ 15 เชื้อก็เดินทางไปตาม กล่าวง่าย ๆ คือที่ใดมีนกพิราบ ก็ต้องมีอึของมัน และอึของมันก็จะมีสปอร์ของเชื้อรา C. neoformans อยู่

#ปัจจัยความรุนแรง

แม้เราจะรู้จักเชื้อราประเภทนี้มานานนับร้อยปีแต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังคงไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าอะไรเป็นตัวที่ทำให้ คริปโตคอคคัส กลายเป็นเชื้อโรคร้ายแรงและมีอยู่ไปทั่ว ทาง Joseph Heitman เชื่อว่าน่าจะมาจากองค์ประกอบ 2 อย่างที่ทำให้เชื้อโรคหลบหลีกระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์

“ผนังเซลล์ของ(หรือที่เรียกกันว่าแคปซูล) คริปโตคอคคัส ที่อยู่รอบ ๆ เซลล์นั้นเป็นเมทริกซ์ที่อุดมไปด้วยโพลีแซ็กคาไรด์(โมเลกลุยาว)ที่ซับซ้อนมาก และสามารถยับยั้งกระบวนการทำลายเซลล์(จากระบบภูมิคุ้มกัน)และช่วยทำให้อยู่รอดในร่างกายได้” เขากล่าว

ในขณะที่อีกอย่างคือระดับเมลานินที่ถูกฝังอยู่ผนังเซลล์ก็ช่วยป้องกันมันจากการถูกทำลายจากปฏิกิริยาออกซิเดชั่นได้ ท้ายที่สุดแล้วเชื้อโรคเหล่านี้ก็สามารถเข้าไปอยู่ในร่างกายมนุษย์และเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะกับคนที่มีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง

#เราต้องมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับเชื้อโรคและการให้อาหารนกพิราบมากขึ้น

บทเรียนจากไวรัสโควิด-19 ทำให้ทั้งโลกหันมาสนใจสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ก่อโรคได้รุนแรงมากขึ้น ขณะเดียวกันภาวะโลกร้อนก็ทำให้แบคทีเรียหลายสายพันธุ์แพร่กระจาย หรือไม่ก็รุนแรงได้มากขึ้น เช่นเดียวกับเชื้อรา โดยเฉพาะกับเชื้อราที่มากับสัตว์อย่างนกพิราบ

หลายคนยังไม่ทราบว่านกพิราบที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้นกลายเป็นหนึ่งในแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคที่สำคัญ การให้อาหารนกพิราบซึ่งทำให้เกิดการรวมตัวขนาดใหญ่ ยิ่งทำให้ C. neoformans แพร่กระจายได้มากยิ่งขึ้น โดยที่มนุษย์ไม่สามารถมองเห็นสปอร์ของมันได้เลย

สิ่งนี้ทำให้ผู้คนจำนวนมากเสี่ยงอันตราย อีกทั้งยังสามารถส่งผลกระทบต่อไปยังเศรษฐกิจและความสะอาดของสิ่งแวดล้อม

Heitman เน้นย้ำว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างโรคและเชื้อราในมนุษย์นั้นมีมานานหลายศตวรรษ ซึ่งเราไม่สามารถละเลยเชื้อราได้อีกต่อไป โดยเฉพาะนักฆ่าในความเงียบเหล่านี้”