Talk of The Town

“ซูซูกิ มอเตอร์” โบกมือลาไทย กระทบหลายอุตสาหกรรม นักวิเคราะห์ชี้อุตฯยานยนต์หนักสุด


10 มิถุนายน 2567
ซูซูกิ มอเตอร์ โบกลาไทย copy_00.jpg

ถือเป็นอีกหนึ่งข่าวใหญ่สำหรับวงการยานยนต์ไทยกับการประกาศข่าวของ ซูซูกิ มอเตอร์คอร์ปอเรชั่น ที่ได้ตัดสินใจยุติการผลิตที่โรงงานผลิตรถยนต์ของบริษัทในเครือในประเทศไทย “บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด” (SMT) ภายในช่วงสิ้นปี 2568 แต่ยังจำหน่ายและให้บริการต่อไป โดยนำเข้ารถยนต์จากโรงงานแถบอาเซียน ญี่ปุ่นและอินเดียแทน


และแน่นอนว่าข่าวดังกล่าวต้องมีผลกระทบในวงกว้าง แต่สำหรับตลาดทุนจะมีผลกระทบมากน้อยเพียงใด ทางเราจะหยิบยกมุมมองจากนักวิเคราะห์มาให้ผู้อ่านและนักลงทุนมาได้ทราบกันในครั้งนี้

โดยนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้มุมมองว่าเป็นปัจจัยลบเชิง Sentiment ต่อทั้ง 1.หุ้นกลุ่มจับจ่ายใช้สอย จากแนวโน้มการเลิกจ้างงานพนักงานที่เพิ่มขึ้น ซ้ำเติมจากข่าวเตรียมยุติโรงงานในไทยของ Subaru ก่อนหน้านี้  2.เป็นแรงกดดันเชิง Sentiment ต่อหุ้นกลุ่มพาร์ทชิ้นส่วนยานยนต์ 3.เป็นแรงกดดันต่อหุ้นกลุ่มนิคมฯ 

และ 4.การยังคงดำเนินธุรกิจอยู่ แต่หลังจากปี 2568 จะนำเข้ารถยนต์เพียงอย่างเดียว แม้ไทยจะมี FTA อาเซียนกับอินโดนีเซีย แต่แนวโน้มราคารถยนต์ Suzuki ในไทยอาจต้องเผชิญกับค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้บริษัทถูกลดทอนความสามารถในการแข่งขันลง 

ขณะที่ผลต่อประเทศไทยในระยะยาวการซื้อรถยนต์นำเข้า จะทำให้เสียดุลการค้ากับอินโดนีเซียมากขึ้น โดยเฉพาะหากรุ่นยอดนิยมอย่าง Swift ในโมเดลหน้า ยังทำการตลาดในไทย จะถือเป็นรถยนต์ที่อยู่ในกลุ่ม B-Segment  ( กลุ่มเก๋งเล็กที่มียอดขายสูงของไทย) ในค่ายญี่ปุ่นรุ่นแรกที่นำเข้าจากอินโดนีเซีย 

ทั้งนี้ ทางฝ่ายกังวลว่า หากบริษัทอื่นเปลี่ยนมาใช้วิธีการนำเข้ารถเก๋งที่จัดอยู่ใน B-Segment จากอินโดฯ เพื่อมาทำตลาดในไทยมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

ด้านนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ให้มุมมองว่าจากการสอบถามผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ มีบริษัทที่มีออร์เดอร์จาก ซูซูกิ ได้แก่ IRC แต่พบว่าขนาดรายได้จาก ซูซูกิ ไม่ถึง 1 ล้านบาท เพียง 0.01% ของรายได้ จึงไม่กระทบอย่างมีนัยยะ ต่อผลประกอบการ

อย่างไรก็ตาม เราคงมุมมองเป็นลบต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ในปีนี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและตลาดโลกที่ชะลอตัวมากกว่าคาด ปัจจัยลบรุมเร้าที่กดดันการเติบโตของอุตสาหกรรม ทั้งปัจจัยในประเทศ ได้แก่ ปัญหาหนี้ครัวเรือน อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และปัจจัยมหภาค ได้แก่ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ และปัญหาสงครามการค้า การแข่งขันในตลาด EVที่รุนแรงขึ้น เป็นต้น

ประกอบกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นในตลาด EV ราคาที่ตกต่ำของตลาดรถมือสอง ซึ่งดึงส่วนแบ่งตลาดของรถยนต์ใหม่ ภาพรวมปี 2567 คาดกำไรปกติของกลุ่มยานยนต์ภายใต้ Coverage ของเราลง 11% เหลือ 4,314 ล้านบาท อิงสมมติฐานยอดผลิตรถยนต์ของประเทศไทยในปีนี้ปรับลดลง 6% เหลือ 1.73 ล้านคัน ต่ำกว่าที่ ส.อ.ท. คาดที่ 1.90 ล้านคัน(เติบโตจากปีก่อน 3%) ซึ่งมองเป็นไปได้ยาก คาดว่า ส.อ.ท จะปรับลดเป้าหมายลง

ทั้งนี้ ให้น้ำหนักการลงทุนกลุ่มยานยนต์ “น้อยกว่าตลาด” มองอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ในปี 2567 ชะลอตัวมากกว่าที่คาดและปริมาณการผลิตน่าจะต่ำกว่าเป้าที่สภาอุตสาหกรรมคาดไว้ กลยุทธ์การลงทุน แนะนำรอผ่านช่วงงบไตรมาส 2/67 ที่น่าจะเป็นจุดต่ำสุดของปี ค่อยกลับมาดูอีกครั้ง

ฟากนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้มุมมองเป็นกลางต่อประเด็นดังกล่าว เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อยอดการผลิตรถยนต์ของไทยที่จำกัด โดยในปี 2566 ซูซูกิมียอดผลิตรถยนต์ในไทยคิดเป็นสัดส่วนค่อนข้างน้อยราว 0.5% ของยอดการผลิตรถยนต์ในไทยทั้งหมด 

และไม่มีหุ้นที่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ โดย SAT และ AH มีสัดส่วนการผลิตชิ้นส่วนให้ซูซูกิน้อยมาก ทั้งนี้ กลุ่ม Automotive แนะนำ Underweight ไม่มีหุ้น top pick

สุดท้ายนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) ให้มุมมองว่าในเชิงของการลงทุน Suzuki ตั้งโรงงานอยู่ในนิคม WHA 400 ไร่ มองมีผลกระทบต่อ WHA ในส่วนของรายได้สาธารณูปโภค แต่น้อยมาก ส่วนที่ดินคาดว่า Suzuki อาจขายที่ดินให้โรงงานอื่นต่อ

ขณะที่ด้านสินเชื่อ KKP เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อ Suzuki มากที่สุด ซึ่งจากข่าวนี้คาดกดดันราคารถยนต์มือ 2 Suzuki ลดลงมากและกระทบต่อการขาดทุนสินทรัพย์ยึดคืนที่สูงขึ้น รวมถึงปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ของ KKP ต่อเนื่อง ทั้งนี้ แนะนำ “ซื้อ” WHA ราคาพื้นฐาน 5.9 บาท  และ “ถือ” KKP ราคาพื้นฐาน 49 บาท