จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : รัฐขยับเพดานตรึงราคาดีเซล PTG รับอานิสงส์ดันกำไร Q2 พุ่ง


10 มิถุนายน 2567
รัฐบาลปรับเพดานตรึงราคาดีเซลเป็นไม่เกินลิตรละ 33  บาท  ส่งผลดีต่อกำไรของ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอร์ยี่ (PTG) จากค่าการตลาดที่เพิ่มขึ้นแตะ 1.75  บาท/ลิตร ขณะที่ผู้บริหารคาดยอดขายน้ำมันจะเพิ่มขึ้นกว่า 12% YoY ทำสถิติสูงสุดใหม่ไตรมาส2 

รายงานพิเศษ PTG copy.jpg

คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2567  ในส่วนของมาตรการ ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแก่ประชาชน โดย ได้ปรับกรอบการตรึงราคาดีเซลเป็นไม่เกิน 33 บาท/ลิตร ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย. ถึง 31 ก.ค. 2567 ซึ่งเป็นมาตรการต่อเนื่องจากมาตรการเดิมที่สิ้นสุดเมื่อเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา ที่ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ลิตรละไม่เกิน 30 บาท  ขณะที่ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิ ณ วันที่ 26 พ.ค. 2567 ติดลบ 111,345 ล้านบาท  แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 63,655 ล้านบาท ส่วนก๊าซ LPG ติดลบ 47,690 ล้านบาท

การปรับเพดานตรึงน้ำมันดีเซลส่งผลดีต่อผู้ค้าน้ำมัน บมจ.พีทีจี เอ็นเนอร์ยี่ (PTG)  โดยบล.เคจีไอ วิเคราะห์  หุ้น PTG  โดยระบุว่า เป็นหนึ่งในหุ้นที่จะได้อานิสงส์จากการขึ้นราคาน้ำมันดีเซล

โดยเราคาดว่ากำไรของ PTG ในไตรมาส 2/67 จะเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็นกว่า 400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นทั้งจากปีก่อน และจากไตรมาสก่อน เนื่องจาก 1. ค่าการตลาดน้ำมันดีขึ้น 2. ปริมาณยอดขายน้ำมันเพิ่มขึ้น 

ซึ่งกระทรวงพลังงานอนุญาตให้ทยอยปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไทยเป็น 31.94 บาท/ลิตร เมื่อวันที่ 17 พ.ค. เพิ่มขึ้นมา 2.00 บาท/ลิตร จากเมื่อเดือนมี.ค. เนื่องจากผลขาดทุนของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นจนทะลุ1 แสนล้านบาท ไปแล้วตั้งแต่เดือนเม.ย. และขึ้นไปจนเกือบถึงระดับสูงสุดเดิมที่ 1.314 แสนล้านบาทเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2565 (ปัจจุบันอยู่ที่ 1.109 แสนล้านบาท)  

ดังนั้นการที่ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลขยับสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าการตลาดน้ำมันดีเซลดีขึ้นบ้าง ดังนั้นเราจึงคาดว่าค่าการตลาดน้ำมันของ PTG ในไตรมาส 2/67 จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.75 บาท/ลิตร (+10% จากปีก่อน, +13% จากไตรมาสก่อน) สอดคล้องกับมุมมองของผู้บริหารที่ 1.70-1.80 บาท/ลิตร สำหรับช่วงต้นไตรมาส 2/67 ถึงปัจจุบัน 

นอกจากนี้ บริษัทยังคาดว่าปริมาณยอดขายน้ำมันจะเพิ่มขึ้นเกินกว่า 12% YoY และน่าจะทำสถิติสูงสุดใหม่ใน 2Q67F เนื่องจากมีการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นในฤดูเก็บเกี่ยวของไทย นอกจากนี้ ยังคาดว่ากำไรจากธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมันจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากปริมาณยอดขาย LPG และกาแฟเพิ่มขึ้น

แต่ต้องติดตามการตัดสินใจของคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีอย่างใกล้ชิด หลังนาย พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีแผนจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 400 บาทในเดือนตุ.ค.แต่อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจขั้นสุดท้ายขึ้นอยู่กับคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคี (คณะกรรมการฯ) ซึ่งจากการประชุมนัดล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ทางคณะกรรมการฯ มอบหมายให้คณะอนุกรรมการของแต่ละจังหวัดทำการศึกษา และเสนอค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสมกับจังหวัดของตัวเองขึ้นมาที่คณะกรรมการฯ ภายในสิ้นเดือนก.ค. 

ทั้งนี้ถ้าหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน ทั่วประเทศ ผู้บริหาร PTG คาดว่าจะส่งผลกระทบกับบริษัทประมาณ 0.06-0.07 บาท/ลิตร คิดเป็นมูลค่าประมาณ 300-350ล้านบาท/ปีหรือเท่ากับ 23-26% ของประมาณการกำไรปี 2568F ของเราที่ 1.3 พันล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารตั้งเป้าจะปรับเพิ่มราคาขายปลีกน้ำมันเพื่อชดเชยผลกระทบดังกล่าวบางส่วน ทั้งนี้คณะกรรมการฯ กำหนดประชุมนัดหน้าในวันที่ 19 มิ.ย.

ดังนั้นเรายังคงคำแนะนำซื้อ PTG โดยยังคงราคาเป้าหมายปี 2567F ไว้ที่ 10.40 บาท อิงจาก PE ที่ 15.0x นอกจากนี้ เรายังเพิ่ม PTG เข้ามาในพอร์ตหุ้นเด่นของเราในกลุ่มพลังงาน สำหรับช่วงหนึ่งถึงสองเดือนข้างหน้า เพราะคาดว่าบริษัทจะได้อานิสงส์จากการปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศตั้งแต่เดือนเม.ย. ซึ่งทำให้ค่าการตลาดน้ำมันดีเซลดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 400 บาท/วัน น่าจะกลับมาเป็นประเด็นความกังวลอีกครั้งหลังสิ้นเดือนก.ค. เมื่อคณะอนุกรรมการของแต่ละจังหวัดจะเสนอค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสมกับจังหวัดของตัวเองต่อคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีแล้ว
PTG