จิปาถะ

ประวัติ-ความหมาย วันไหว้บะจ่าง ชุดไหว้ต้องมีอะไรบ้าง


11 มิถุนายน 2567
วันไหว้บะจ่าง 2567 ตรงกับวันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน มีอีกชื่อเรียกขาน คือ “เทศกาลตวนอู่” หรือ “ตวงโหงวโจ่ย” ในสำเนียงแต้จิ๋ว เป็นประเพณีที่ชาวจีนหรือชาวไทยเชื้อสายจีนสืบสานมายาวนาน ตรงกับวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินทางจันทรคติ ซึ่งตามปฏิทินสากลนั้น แต่ละปีจะไม่ตรงกัน

ประวัติ-ความหมาย วันไหว้บะจ่าง copy.jpg


ตั้งแต่โบราณกาลมา ชาวจีน เชื่อกันว่า การไหว้บะจ่าง จะนำพาความโชคดีเป็นสิริมงคลมาสู่ตัวเองและครอบครัว เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อบูชา “เทพเจ้ามังกร” ซึ่งเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพบูชาของชาวไป่เยว่ กลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงตั้งแต่ช่วงกลางลงไปยังตอนใต้

ตำนวนเล่าว่า ชาวไป่เยว่มีการสักตัวด้วยรูปมังกร เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า พวกเขาคือลูกหลานมังกร ชาวไป่เยว่เดินทางข้ามฟากไปมาหาสู่กันด้วยเรือที่ทำจากไม้ท่อนเดียวเป็นพาหนะ ในอดีตจึงมีการจัดแข่งพายเรือมังกรเพื่อเป็นการเคารพบูชาเทพเจ้ามังกร มีการนำเอาอาหารใส่ลงกระบอกไม้ไผ่ หรือห่อด้วยใบไม้แล้วโยนลงน้ำ เพื่อแสดงความเคารพต่อเทพเจ้ามังกร ดังนั้น จะเห็นได้ว่า นอกเหนือจากการแสดงความเคารพต่อเทพเจ้าแล้ว ยังมีการจัดกิจกรรมประเพณีแข่งเรือมังกรในวันนี้ด้วย

ต่อมาภายหลัง ยังมีเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับ “ชวีหยวน” นักกวีตงฉินผู้รักชาติ ที่ถูกฮ่องเต้หูเบาหลงเชื่อขุนนางกังฉิน จนเขาถูกเนรเทศออกนอกเมือง ชวีหยวนกระโดดน้ำตายที่แม่น้ำเล่ยหลัวเจียงในวันนี้ (วันที่ 5 เดือน 5) และด้วยความรักอาลัยที่มีต่อชวีหยวน ชาวบ้านจึงได้พากันงมหาศพของเขา และนำข้าวห่อใบไผ่โยนลงไปในน้ำเพื่อหวังไม่ให้ฝูงปลากินศพของเขา ด้วยความที่เป็นที่รักของประชาชน เรื่องราวของกวีชวีหยวนจึงถูกเล่าขานสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่นผูกโยงกับเทศกาลไหว้บะจ่างเพื่อเป็นการรำลึกถึง

ในประเทศจีน เทศกาลไหว้บะจ่างนี้ ถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดโดยรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2008 (พ.ศ.2551)  และได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage) โดยองค์การยูเนสโก (UNESCO) ในปี 2009 นับเป็นเทศกาลแรกของจีนที่ได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลก

รู้จัก "บะจ่าง" ภูมิปัญญาการถนอมอาหาร

“บะจ่าง” เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการถนอมอาหารให้เก็บไว้รับประทานได้นานๆในช่วงที่อากาศเริ่มอุ่น นั่นคือ การนำข้าวเหนียวมาห่อใส่ใบไผ่ และนำไปต้ม

ไส้ของบะจ่างนั้นมีสูตรเฉพาะของแต่ละพื้นที่ในประเทศจีนค่อนข้างหลากหลาย แต่โดยทั่วไปแล้วพื้นที่จีนตอนเหนือนิยมทำไส้ถั่วแดงหรือพุทราแดงค่อนข้างมาก ส่วนทางใต้จะเน้นไส้หลากหลายทั้งเนื้อทั้งไข่ เห็ด แปะก๊วย และอื่นๆจัดเต็มกันไป

แต่สิ่งหนึ่งที่มีเอกลักษณ์ร่วมกันของบะจ่างก็คือ รูปทรงสามเหลี่ยม ที่ว่าเป็นทรงสามเหลี่ยมนั้นเพราะมีลักษณะคล้ายเขาวัว จึงใช้เป็นสัญลักษณ์แทนวัว ซึ่งเป็นของอย่างหนึ่งในการเซ่นไหว้นั่นเอง

นอกจากนี้ บะจ่างยังมีทั้งสรรพคุณทางยาและคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งโดยภาพรวมนั้น บะจ่างช่วยแก้พิษแดด คลายร้อน ให้ความชุ่มชื่นสงบจิตใจ และบำรุงกระเพาะและม้ามให้แข็งแรง ด้วยสรรพคุณของส่วนประกอบ ดังนี้

- ใบไผ่ ระบายความร้อน แก้หงุดหงิด เสริมน้ำและช่วยขับปัสสาวะ
- พุทราจีน บำรุงกระเพาะ ม้าม บำรุงเลือดลม
- เผือกและถั่วลิสง บำรุงกระเพาะ ม้าม บำรุงเลือดลม  

ไหว้บะจ่างต้องเตรียมอะไรบ้าง

สำหรับการไหว้ขอพรเทพเจ้ามังกรตามความเชื่อของลูกหลานชาวจีนนั้น มีการตระเตรียมของไหว้ ดังนี้

- บะจ่าง ใช้เป็นเลขคู่ เช่น 2 ลูก 4 ลูก 6 ลูก หรือ 8 ลูก เพราะคนจีนเชื่อว่าเป็นเลขสิริมงคล อีกทั้งวันที่ 5 เดือน 5 นั้น เท่ากับพลังหยางซ้อนกัน (เลขคี่เป็นพลังหยาง) จึงต้องมีพลังหยินจากเลขคู่มาเพื่อสร้างสมดุลกัน
- ผลไม้มงคล 5 อย่าง เช่น ส้ม แอปเปิ้ลแดง สาลี่ แก้วมังกร และกล้วยหอม
- น้ำชา 5 ถ้วย
- กระดาษเงินกระดาษทองไหว้เจ้า (หงึ่งเตี๋ย) 2 ชุด
- แจกันดอกไม้ 1 คู่
- เทียนแดง 1 คู่
- ธูป 5 ดอก

การไหว้บะจ่าง นิยมไหว้ในช่วงเช้า  โดยมีการตั้งโต๊ะไหว้หน้าตี่จู่เอี้ย ศาลบรรพบุรุษ หรือศาลเจ้าที่ และขณะไหว้ให้ตั้งใจขอพรต่อเทพเจ้ามังกร ในเรื่องความโชคดี การงาน ร่ำรวยเงินทอง