Wealth Sharing

หุ้นไทยเคราะห์ซ้ำ! ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดรอบ 7 เดือน กดดันกลุ่ม Domestic Play ฉุดดัชนีดิ่งต่อ


13 มิถุนายน 2567
ทิศทางตลาดหุ้นไทยในช่วงบ่ายนี้ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หลังจากที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รายงานตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคมปรับตัวลง ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน ด้วยแรงกดดันจากการเมืองที่ยังไม่คลี่คลาย ซึ่งไปรับชมมุมมองจากนักวิเคราะห์เพิ่มเติมกัน

WS (เว็บ)_หุ้นไทยเคราะห์ซ้ำ! copy_0.jpg

โดยนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ให้มุมมองว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนีลดลงต่ำสุดในรอบ 7 เดือน มาจากความกังวลเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยเฉพาะกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้อง 40 สว. เกี่ยวกับคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี ตลอดจนความกังวลสถานการณ์ราคาพลังงานในประเทศที่เพิ่มขึ้น 

รวมทั้งความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางที่อาจยืดเยื้อ ซึ่งเป็นปัจจัยเพิ่มแรงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้ล่าช้าออกไป ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ 54.3 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 57.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 69.8 ซึ่งดัชนีทุกรายการ ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เช่นกัน

จากปัจจัยข้างต้น ถือเป็น Sentiment เชิงลบต่อธีมหุ้นกลุ่ม Domestic Play โดยภาพรวม เช่น กลุ่มค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์และยานยนต์ ดังนั้น จึงยังคงมุมมองการลงทุนในกลุ่มธีมหุ้น Global Play ที่มีความโดดเด่นกว่า Domestic Play จนกว่าแรงกดดันทางการเมืองจะคลายตัว

ด้านนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้มุมมองว่า ตลาดหุ้นช่วงบ่ายยังคงแกว่งตัวลง หลังได้ตอบรับ CPI เดือนพ.ค.67 ของสหรัฐฯที่ชะลอตัวลงและต่ำกว่าตลาดคาดไปในระดับหนึ่งแล้ว หากแต่มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทย รวมถึงดัชนีตลาดหุ้นไทยยังคงถูกกดดันจากภาวะอัตราดอกเบี้ยของไทยที่ยังคงอยู่ในระดับสูง 

ประกอบการเมืองไทยที่ยังคงเป็นปัจจัยกดดันสอดรับกับการเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค.67 ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยซึ่งอยู่ที่ 60.5 ลดลงต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน เนื่องจากความกังวลเสถียรภาพทางการเมืองไทยเป็นสำคัญ 

โดยเฉพาะกรณีที่ศาลรธน.รับคำร้อง 40 สว. เกี่ยวกับคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี ตลอดจนความกังวลสถานการณ์ราคาพลังงานในประเทศที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางที่อาจยืดเยื้อ ซึ่งเป็นปัจจัยเพิ่มแรงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้ล่าช้าออกไป