Wealth Sharing

ชำแหละ! KEX เพิ่มทุนมโหฬาร ขาดทุนสะสมเพียบ ราคาร่วงจากสูงสุด 95% ธุรกิจไร้แววกำไร


14 มิถุนายน 2567
หลังจากที่เป็นที่จับตาของนักลงทุนและนักวิเคราะห์มานาน กับการประกาศเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX ซึ่งล่าสุดในวานนี้ (ณ วันที่ 13 มิ.ย. 67) ก็ได้มีการชี้ชัดอย่างแน่นอนแล้ว ถึงแนวทางการเพิ่มทุนจดทะเบียน

WS (เว็บ)_ชำแหละ! KEX copy_0.jpg

แต่ก่อนจะอัพเดทข้อมูลดังกล่าวในวันนี้ ทางสำนักข่าว Share2Trade อยากจะพาผู้อ่านไปย้อนรอยหุ้น KEX กัน เพราะเป็นอีกหนึ่งหุ้นที่สร้างบาดแผลให้แก่ทั้งนักลงทุนรายใหญ่และรายย่อยได้อย่างสาหัส จากการเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและกำหนดราคาเสนอขายหุ้นไอพีโอไปที่ 28 บาท

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของ KEX ก็ได้ประกาศเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทเป็น 1,409,250,000 บาท จากเดิมจำนวน 890,000,000 บาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่ 2,299,250,000 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 2,818,500,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท

โดยจะเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Rights Offering) ไม่ว่าคราวเดียวหรือหลายคราว ในอัตราส่วนการจัดสรรหุ้น 0.6196 หุ้นสามัญเดิม ต่อ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุน โดยมีราคาเสนอขายหุ้นละ 3.20 บาท ซึ่งจะเปิดให้จองซื้อ ในช่วงระหว่างวันที่ 21 ส.ค. 67 ถึงวันที่ 27 ส.ค. 67

และจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนไม่เกิน 6,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท เพื่อรองรับการปรับสิทธิของใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น KEX ภายใต้โครงการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อกรรมการ ผู้บริหารและพนักงานของบริษัท (ESOP Warrants)

แต่อย่างไรก็ดี ซึ่งที่น่าจับตามองก็คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นในส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นบริษัท เอสเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 1,091,818,327 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 62.66% เข้ามาแทนบริษัท เคแอลเอ็น โลจิสติคส์ (ประเทศไทย) จำกัด รวมไปถึงยุติการใช้ชื่อและเครื่องหมายการค้าที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ “Kerry” โดยเปลี่ยนมาใช้แบรนด์ “KEX” แทน 

ในแง่ของราคาหุ้นตั้งแต่เข้าทำมาการซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ฯวันที่ 24 ธ.ค. 63 ราคาหุ้นในช่วงปิดตลาดอยู่ที่ 51.25 บาท ปรับตัวขึ้นจากราคาไอพีโอถึง 83.04% จนในวันที่ 24 ธ.ค. 63 ก็ได้ทำสูงสุดที่ 73 บาท แต่ในปัจจุบันราคาหุ้นกลับปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจนอยู่ที่ระดับ 3.20 บาท หรือปรับตัวลงถึง 95.61% จากจุดสูงสุด

ด้านนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) ให้มุมมองว่าถึงประกาศเมื่อวานนี้ถึงแผนการเพิ่มทุนโดยการออกหุ้นใหม่ 2,812.5 ล้านหุ้น เสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (RO) จำนวน 0.6196 หุ้นเดิมต่อหนึ่งหุ้นใหม่ แผนดังกล่าวจะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นในวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 โดยราคา RO กำหนดไว้ที่ 3.20 บาท/หุ้น 

โดยกำหนดราคาเสนอขายโดยอ้างอิง ส่วนลดประมาณ 12.33% ของราคาถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของหุ้นของบริษัทฯ ในระหว่างวันที่ 4-12 มิถุนายน 2567 แผนดังกล่าวจะเพิ่มเงินสดเข้าบริษัท จำนวน 9 พันล้านบาท XR คือวันที่ 1 สิงหาคม 2567 และใช้สิทธิวันที่ 21 – 27 สิงหาคม 2567

สำหรับเงินที่ได้จะถูกนำไปใช้ภายในปี 2567-2568 KEX น่าจะชำระคืนเงินกู้ทั้งหมดจำนวน 3.24 พันล้านบาท (36% ของเงินที่ได้) เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถานะทางการเงินของบริษัทฯ และเพื่อรักษาความยืดหยุ่นในการจัดหาเงินทุนในอนาคต อีก 5.76 พันล้านบาท (64% ของเงินที่ได้) จะถูกนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการซื้อยานพาหนะขนส่ง บำรุงรักษาอุปกรณ์ใช้งาน เสริมสภาพคล่องของบริษัทฯ และเพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจ และการลงทุนที่จำเป็นสำหรับความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

ทั้งนี้ KEX ขาดทุนตั้งแต่ไตรมาส 4/64 ฐานทุนลดลงจาก 9.3 พันล้านบาท ในไตรมาส 4/64 เป็น 1.4 พันล้านบาท ในไตรมาส 1/67 เงินสดในมืออยู่ที่ 1.3 พันล้านบาท โดยมี EBITDA ติดลบ 552 ล้านบาท ในไตรมาส 1/67 หากไม่มีการเพิ่มทุนดังกล่าว ฐานทุนของ KEX จะกลายเป็นลบในครึ่งปีหลังปี 67 

ทำให้การเพิ่มทุนนี้จำเป็นสำหรับ KEX เพื่อปรับปรุงสถานะทางการเงิน และช่วยให้สามารถทนต่อการขาดทุนได้นานขึ้น เนื่องจากปริมาณขนส่งยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดัน เราจึงคาดว่าจะขาดทุนจำนวนมากที่ 3.9 พันล้านบาท, 2.8 พันล้านบาท และ2.4 พันล้านบาทในปี 2567-2569

ดังนั้น ยังคงมองลบต่อธุรกิจจัดส่งด่วนแบบ Last-mile Express ของประเทศไทย ที่มีการแข่งขันที่ดุเดือด คู่แข่งอย่าง Flash Express และ Shopee Express ยังคงได้รับการสนับสนุนทางการเงินที่แข็งแกร่งจากผู้ถือหุ้นกระเป๋าหนักเพื่อต่อสู้กับศึกครั้งนี้ รวมถึงไปรษณีย์ไทย จึงคำแนะนำ “ขาย” ราคาเป้าหมายที่ 2.50 บาท

สำหรับตัวเลขผลประกอบการของ KEX หากย้อนดูไปตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ พบว่าปีที่มีกำไรสุทธิมากที่สุดก็คือในปี 2563 ที่ทำได้ราว 1,405 ล้านบาท จนในปี 2564 ลดลงเหลือเพียง 46 ล้านบาท และขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 ที่ 2,829 ล้านบาท, ปี 2566 ที่ 3,880 ล้านบาท และในไตรมาส 1/67 ขาดทุนอยู่ที่ 1,188 ล้านบาท

และด้วยผลการดำเนินงานที่ขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้ตัวเลขของขาดทุนสะสมในงบการเงินล่าสุดสูงถึง 7,680 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลขหนี้สินหรือเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้นและระยะยาว (ณ วันที่ 31 มี.ค. 67) อยู่ที่ 3,240 ล้านบาท
KEX