จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : “ค่าระวางเรือ-รายได้ 10 ธุรกิจใหม่” ดันรายได้ LEO ไตรมาส 2 โตแกร่ง


14 มิถุนายน 2567
ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศต่างๆ กดดันให้ค่าระวางเรือปรับเพิ่มขึ้นทุกเส้นทาง ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ครบวงจรครอบคลุมทั่วโลก และการขนส่งสินค้าแบบครบวงจร ซึ่งผู้บริหาร บมจ.ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ (LEO) มั่นใจผลงานไตรมาส 2 ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

รายงานพิเศษ “ค่าระวางเรือ-รายได้ 10 ธุรกิจใ.jpg

โดย ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) นายชัยชาญ เจริญสุข ระบุค่าระวางเรือ (Freight) และค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม (Surcharge) ปรับสูงขึ้นทุกเส้นทาง จากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์  การเร่งผลิตและส่งออกของจีน ซึ่งกระทบต้นทุน และระยะเวลาการดำเนินการ

"ค่าระวางช่วงปลายเดือนเม.ย. เพิ่มสูงขึ้นทุกเส้นทางถึง 30-40% จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และจากการที่จีนเร่งผลักดันส่งออกสินค้าจีนไปสหรัฐฯ ก่อนการเลือกตั้งสหรัฐฯ โดยคาดว่าค่าระวางจะยังคงตัวในระดับสูงถึงปลายปี 67 อย่างไรก็ดี มั่นใจว่าค่าระวางจะไม่สูงเท่าระดับช่วงโควิด-19 แต่ตอนนี้ขึ้นไปสูงกว่าที่มีปัญหาที่ทะเลแดงระลอกแรกเมื่อปลายปี 66 ถึงม.ค. 67 แล้ว ซึ่งต้องมีการวางแผนล่วงหน้าเพื่อรับวิกฤติต่อไป"

ซึ่งเป็นมุมมองในทิศทางเดียวกับที่ นายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่ บมจ.ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ (LEO) ที่มั่นใจผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2567 มีแนวโน้มดีต่อเนื่อง  จากค่าระวางเรือช่วงครึ่งปีหลังมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้น พร้อมตั้งเป้ารายได้จาก 10 ธุรกิจใหม่ Non-Freight และ Non-Logistics ที่เริ่มไปแล้วและอยู่ระหว่างเตรียมเปิดดำเนินการ จะรับรู้รายได้ในปีนี้ราว 227 ล้านบาท และภายใน 3 ปี ประมาณ 564  ล้านบาท 

ขณะที่ธุรกิจ Green Logistics ภายในไตรมาส 3-4/67 จะเริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้น พร้อมเดินหน้าโครงการ JV และ M&A ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2567 อีก 2-3 โครงการ เพื่อสร้างการเติบโตรายได้ให้แข็งแกร่ง 

ธุรกิจใหม่ของบริษัท ทั้งที่เปิดบริษัทใหม่เป็นบริษัทร่วมกับพันธมิตรและธุรกิจภายใต้การดำเนินงานของ LEO กว่า 10 ธุรกิจที่เริ่มไปแล้วและอยู่ระหว่างเตรียมเปิดดำเนินการ จะรับรู้รายได้ในปีนี้ราว 227 ล้านบาท ซึ่งเป็นการรับรู้รายได้ตามสัดส่วนที่ LEO ถือหุ้น โดยธุรกิจ LEO Global Mail Solutions คาดว่าจะสามารถหาข้อสรุปได้ภายในไตรมาส 3/67 และเริ่มดำเนินการมีรายได้ในปี 68 ขณะที่ธุรกิจ Green Logistics ภายในไตรมาส 3-4/67 จะเริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้น 

นอกจากนี้บริษัทยังมีการลงทุนต่อเนื่อง โดยอยู่ระหว่างการพูดคุยโครงการ M&A อีกประมาณ 2-3 โครงการในไปป์ไลน์ เพื่อต้องการขยายฐานรายได้ไปสู่ธุรกิจ Non-Freight และ Non-Logistics มากขึ้น
          
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มค่าระวางเรือช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากเริ่มเห็นทิศทางการเติบโตของการส่งออกสินค้าไปยุโรปและสหรัฐต่อเนื่องจากช่วงสิ้นปีที่แล้ว ประกอบกับมีสินค้า E-Commerce ผ่านเข้ามาในไทยจำนวนมาก สะท้อนว่ากำลังซื้อผู้บริโภคทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวและส่งผลบวกต่อการค้าระหว่างประเทศ มองว่าด้วยปัจจัยต่าง ๆ ส่งผลให้อัตราค่าระวางเรือและทางอากาศน่าจะดีขึ้น 

ทั้งนี้ ดัชนีค่าระวางเรือตู้คอนเทนเนอร์  SCFI (Shanghai Containerized Freight Index) ปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา สะท้อนว่าสถานการณ์การค้าโลกเริ่มดีขึ้น เป็นโอกาสที่บริษัทจะสามารถทำกำไรเพิ่มขึ้นจากค่าบริการที่สูงขึ้นในช่วงไตรมาส 2-3/67 อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากช่วงเทศกาลทั้งตรุษจีนและสงกรานต์การส่งออกชะลอตัวลงและเริ่มกลับมาพีคเมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา

สถานการณ์การขนส่งทางเรือปัจจุบัน สายเรือทุกสายพยายามปรับราคาค่าขนส่งเพิ่มขึ้นสูงตั้งแต่ 1 พ.ค.ซึ่งการปรับค่าระวางเรือ (Freight)เพิ่มขึ้นทั้งในสหรัฐ ยุโรป และเอเชีย สำหรับสถานการณ์การขนส่งทางอากาศดีขึ้นค่อนข้างมาก โดยนักท่องเที่ยวเดินทางมากขึ้นทำให้จำนวนเที่ยวบินสูงขึ้น ส่งผลให้มี Capacity จำนวนมาก และทำให้มีปริมาณในการขนส่งสินค้า E-Commerce จากจีนผ่านประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน
LEO