เรื่องเด่นวันนี้

SOLAR ซื้อหุ้น “ซิมเมอร์มานน์” สัดส่วน 40% เร่งเครื่องสู่การเป็นที่ปรึกษา Climate Change


14 มิถุนายน 2567
บมจ.โซลาร์ตรอน (SOLAR) เข้าซื้อหุ้น 40% ใน “ซิมเมอร์มานน์” ธุรกิจการบริการให้คำปรึกษา บริหารจัดทำ ทวนสอบ และให้การรับรองระบบมาตรฐานที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและก๊าซเรือนกระจก หวังเพิ่มโอกาสในธุรกิจ Carbon Credit ขยายฐานกลุ่มลูกค้าใหม่ ผลักดันรายได้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ฟากผู้บริหาร “จุมพล วาทะสุนทรกุล” ระบุการเข้าลงทุนในธุรกิจประเภทนี้จะสนับสนุนให้ลูกค้าของบริษัทฯ มีการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น 

ข่าวลูกค้า LAR ซื้อหุ้น “ซิมเมอร์มานน์” สัดส.jpg

นายจุมพล วาทะสุนทรกุล ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) หรือ SOLAR เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เข้าซื้อเงินลงทุน บริษัท ซิมเมอร์มานน์ จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจการบริการให้คำปรึกษา บริหารจัดทำ ทวนสอบ และให้การรับรองระบบมาตรฐานที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและก๊าซเรือนกระจก จำนวน 20,000 หุ้น รวมมูลค่า 2 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนหุ้นเพิ่ม 40% ของทุนจดทะเบียน ส่งผลให้บริษัทฯ มีหุ้นใน ซิมเมอร์มานน์ รวมทั้งสิ้น 20,001 หุ้น คิดเป็น 40.0020% 

สำหรับวัตถุประสงค์ในการเข้าซื้อนั้นเพื่อขยายโอกาสในธุรกิจ Carbon Credit ให้เป็นไปตามแผนธุรกิจของบริษัทฯ และช่วยเสริมสร้างรายได้ของบริษัทฯ ให้แข็งแกร่งขึ้น และสามารถช่วยขยายฐานลูกค้าได้ 

ทั้งนี้ บริษัทฯ วางแผนต่อยอดธุรกิจพลังงานทางเลือกอยู่เสมอ เนื่องจากสังคมโลกในปัจจุบันมีความตระหนักถึงสภาพแวดล้อมมากขึ้น โดยในทุกๆ ของการดำเนินจะต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอกองค์กร สังเกตได้จากบริษัทชั้นนำหลายแห่งมีการนำแนวคิด ESG เข้าเป็นส่วนหนึ่งในการปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อความยั่งยืน 

จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่รุนแรง จึงถูกยกขึ้นเป็นปัญหาระดับโลกที่ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ซึ่งในแถบยุโรป ได้มีการออกมาตรการเก็บภาษีคาร์บอน หรือ CBAM ก่อนข้ามพรมแดน เพื่อควบคุมสินค้าที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเข้มข้น 

“SOLAR มีความมุ่งมั่นในการเดินหน้าสู่องค์กรคาร์บอนต่ำและยั่งยืน ซึ่งการเข้าลงทุนใน ซิมเมอร์มานน์ จะช่วยสนับสนุนให้องค์กรมีการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยขยายฐานลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งการต่อยอดธุรกิจด้านนี้จะเชื่อมโยงถึงการทำธุรกรรมต่างๆ กับธนาคารที่ถือเป็นแหล่งทุน โดยจะสามารถช่วยลดอัตราดอกเบี้ย รวมถึงได้รับการสนับสนุนเงินทุนที่เหมาะสมตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนดไว้” นายจุมพล กล่าวในที่สุด