จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : TGE บุกตลาดอาเซียนลงทุน Green Energy “กัมพูชา-เวียดนาม”ดันกำลังการผลิตพุ่ง


17 มิถุนายน 2567
บมจ.ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ (TGE) เล็งขยายธุรกิจ บุกตลาดอาเซียน ผ่านแนวทาง M&A เน้นโรงไฟฟ้า Green Energy ในกัมพูชาและเวียดนาม หนุนกำลังการผลิตแตะ 200 เมกะวัตต์ ภายในปี 75

รายงานพิเศษ TGE copy.jpg

แนวทางการลงทุนผ่านการควบรวมกิจการหรือ M&A เป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมอย่างมากในการขยายกิจการของภาคธุรกิจโดยไม่ต้องเสียเวลากับการรอให้บริษัทใหม่เติบโตจนสร้างรายได้ ได้เอง  

ซึ่งแนวทางนี้สอดคล้องกับทิศทางการทำธุรกิจของ บมจ.ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ (TGE) ที่ “สืบตระกูล บินเทพ” ประธานเจ้าหน้าที่ TGE  รับว่า  บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาขยายการลงทุนครั้งใหญ่ในธุรกิจพลังงานสะอาด ทั้งพลังงานลม พลังงานน้ำ ไฮโดรเจน หรือพลังงานอื่นๆ ที่เป็น Green Energy ผ่านการร่วมมือกับพันธมิตรในต่างประเทศผนึกกำลังเข้ากิจการ (M&A) ในโรงไฟฟ้าที่มีการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน อย่างกัมพูชาและเวียดนาม เพื่อให้สามารถรับรู้รายได้เข้ามาทันที 

การเลือกเน้นพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน เพราะสามารถบริหารจัดการได้ดี เนื่องจากอยู่ไม่ไกลจากประเทศไทย และถือเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีความต้องการกระแสไฟฟ้าอยู่ค่อนข้างมาก  การศึกษาดังกล่าวคาดว่าจะสรุปแผนงานความชัดเจนภายในปีนี้ จากนั้นจะเริ่มทยอยลงทุนหรือเห็นการ M&A ตั้งแต่ในปี 68 เป็นต้นไป ซึ่งงบลงทุนขึ้นอยู่กับขนาดโครงการที่น่าสนใจ คาดว่าจะเริ่มตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ไปจนถึง 30 เมกะวัตต์   

"ปัจจุบันก็มีการศึกษาอยู่เกือบ 10 โครงการ เบื้องต้นการลงทุนอาจมีกำลังการผลิตที่ยังไม่เยอะ แต่เพื่อให้เราสามารถรับรู้รายได้เพิ่มขึ้น และได้เข้าสู่ธุรกิจพลังงานสะอาด และเป็นการก้าวเข้าสู่การ M&A ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น หรือ เริ่มตั้งแต่การพัฒนาโครงการด้วยตัวเอง" นายสืบตระกูล กล่าว 

การลงทุนดังกล่าวจะเข้ามาหนุนกำลังการผลิตในมือให้เพิ่มอีกอย่างน้อย 100 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีอยู่เกือบ 100 เมกะวัตต์แล้ว ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมเพิ่มเป็น 200 เมกะวัตต์ได้ตามเป้าหมายเร็วกว่าแผนที่เบื้องต้นคาดไว้ในปี 75 นอกเหนือจากที่จะสามารถ COD โรงไฟฟ้าขยะชุมชนได้ทั้งหมดภายในปี 70 หรือปี 71  

ส่วนธุรกิจใหม่ที่ TGE เข้ารับบริหารจัดการโรงไฟฟ้าเบื้องต้นที่ 5 โครงการ แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล 3 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 22 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ 2 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวมประมาณ 7 เมกะวัตต์ รวมคิดเป็นราว 30 เมกะวัตต์ 
          
ขณะนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจาเข้ารับบริหารจัดการโรงไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพที่มีการ COD อยู่แล้วเพิ่มเติมอีกราว 2-3 โครงการ หลังจากมีผลงานบริหารจัดการได้ดี ซึ่งสะท้อนมาที่ผลงานไตรมาส 1/67 ของบริษัท ทำให้เจ้าของโครงการหลายรายสนใจให้บริษัทเข้าไปบริหารจัดการ

นอกจากนั้น บริษัทยังอยู่ระหว่างลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 4 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าขยะชุมชนในจังหวัดสระแก้ว กำลังการผลิตติดตั้ง 8 เมกะวัตต์, จังหวัดชุมพร กำลังการผลิตติดตั้ง 6 เมกะวัตต์, จังหวัดราชบุรี กำลังการผลิตติดตั้ง 8 เมกะวัตต์ และจังหวัดชัยนาท กำลังการผลิตติดตั้ง 8 เมกะวัตต์ 

คาดว่าโรงไฟฟ้าขยะในชุมพร น่าจะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในไตรมาส 4/68 ส่วนอีกจำนวน 3 โครงการ จะทยอย COD ตามลำดับ เริ่มตั้งแต่ไตรมาส 1/69 เป็นต้นไป ทำให้ในปี 68 บริษัทจะเริ่มมีรายได้จากโรงไฟฟ้าขยะชุมชนบางส่วนเข้ามาบ้างแล้ว

ในปีนี้บริษัทฯ ยังมีแผนยื่น TOR หรือเข้าประมูลโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนกับ อปท. อีก 1 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ หากได้รับการคัดเลือก. จะส่งผลให้กำลังการผลิตติดตั้งรวมของ TGE เพิ่มเป็นเกือบ 100 เมกะวัตต์ 

ทั้งนี้ทิศทางการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าผลประกอบการจะเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสแรก จากการดำเนินการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า รวมถึงการรับรู้ค่า Ft และการ COD โครงการโรงไฟฟ้าเดิมในพอร์ต โดยบริษัทยังคงเป้ารายได้ปีนี้จะเติบโตไม่น้อยกว่า 10% เป็นไปตามธุรกิจการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพที่เพิ่มเข้ามา โดยจะมีรายได้ หรือราคาหน่วยไฟที่แตกต่างจากโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่มีอยู่ รวมถึงจะมีรายได้จากการขายคาร์บอนด์เครดิตด้วย
TGE