จิปาถะ

ราคาทองคำ VS ราคาน้ำมัน ทำไมขึ้น-ลงพร้อมกัน


17 มิถุนายน 2567
ราคาทองคำขึ้น-ลง เกี่ยวอะไรกับน้ำมัน ? เปิดประเด็นที่ทำให้ทรัพย์สินทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นที่จับตามองของนักลงทุน

SDJ - ราคาทองคำ VS ราคาน้ำมัน.jpg


เรียกได้ว่าราคาทองปี 2567 สูงเป็นประวัติการณ์ หลังทำ New High ไปแตะที่ระดับ 40,000 บาท อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่าราคาทองนั้นมาจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ แต่นอกเหนือจากเรื่องนี้แล้วยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย รวมไปถึงราคาน้ำมันที่มักจะทำให้ราคาทองขึ้น-ลงตามไปด้วย วันนี้จะพาไปดูว่าอะไรเป็นสาเหตุกันแน่ และถ้าอยากจะลงทุนในทองคำควรรู้อะไรบ้าง

ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาทองคำ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ : เพราะเป็นสกุลเงินที่นำมาใช้เป็นราคาอ้างอิงการเทรดทองคำในตลาดโลก เมื่อค่าเงินดอลลาร์อ่อนลงเนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น สงคราม ความไม่แน่นอนทางการเมือง สภาพเศรษฐกิจไม่ดี ฯลฯ นักลงทุนจะกระจายความเสี่ยงด้วยการหันไปซื้อสินทรัพย์อื่น ๆ อย่าง ทองคำ เพื่อรักษามูลค่าเงิน ส่งผลให้ราคาทองคำสูงขึ้น ในทางกลับกันเมื่อเงินแข็งค่า นักลงทุนก็จะกลับมาเก็งกำไรจากเงินดอลลาร์สหรัฐ และทำให้ราคาทองปรับตัวลดลง

ความต้องการของตลาด : แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการแพทย์ ภาคเครื่องประดับ และนักลงทุน นอกจากนี้ยังมีภาครัฐของประเทศต่าง ๆ ที่มีการนำเงินสำรองมาซื้อทองคำเพื่อกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และมีส่วนทำให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้น-ลงตามกลไกตลาดนั่นเอง

การปรับอัตราดอกเบี้ย : นโยบายการเงินของภาครัฐ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีความสำคัญมากเช่นเดียวกัน เพราะเกี่ยวโยงกับอัตราเงินเฟ้อ หากการปรับตัวของอัตราเงินเฟ้อส่งผลทางบวกกับเศรษฐกิจก็จะช่วยให้มีการกระจายตัวในการลงทุนอื่น ๆ มากขึ้น แต่ถ้ามีแนวโน้มเป็นลบ คนก็จะหันมาถือทรัพย์สินที่มีความปลอดภัย เช่น ทองคำ เพื่อลดความเสี่ยงแทน  

ทองคำ VS น้ำมัน เกี่ยวกันอย่างไร

37ac57b2-cd5a-46fa-9b47-f0cfb3503856.png


นอกจากปัจจัยข้างต้นแล้ว น้ำมันก็ส่งผลกับการเปลี่ยนแปลงของราคาทองคำไม่น้อย เพราะน้ำมันเป็นหนึ่งในต้นทุนการผลิต และนำมาใช้ในการคำนวณเงินเฟ้อ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ หากราคาน้ำมันขึ้นสูง อัตราเงินเฟ้อจะสูงตาม และส่งผลต่อราคาทองคำที่จะสูงขึ้นตามไปด้วย 

ซึ่งในส่วนของราคาน้ำมัน มีความแตกต่างกันทั้งน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป อันเนื่องมาจากปัจจัยหลายอย่างทั้งภายในและภายนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการเชื้อเพลิง กำลังการผลิต-ราคาน้ำมันในตลาดโลก สภาพอากาศ-ภัยพิบัติ สงครามการค้า อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน 

รวมทั้งยังมีในส่วนของโครงสร้างราคาน้ำมันสำเร็จรูปภายในประเทศเพื่อรักษาสมดุลทางการค้า โดยโครงสร้างราคาน้ำมันของไทยประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ๆ คือ

ต้นทุนเนื้อน้ำมันจากโรงกลั่น หรือ “ราคา ณ โรงกลั่น” สัดส่วนประมาณ 71% ใช้หลักการกำหนดราคาแบบ Import Parity อ้างอิงราคาจากตลาดสิงคโปร์ ซึ่งไม่ได้เป็นราคาที่ประกาศโดยประเทศสิงคโปร์ หรือโรงกลั่นสิงคโปร์ แต่เป็นราคาที่สะท้อนถึงการซื้อ-ขายของทุกประเทศในภูมิภาคนี้ โดยราคาน้ำมันจะมีค่าในการปรับปรุงคุณภาพให้สอดคล้องกับคุณภาพของประเทศไทย เพื่อรองรับการผสมกับเชื้อเพลิงชีวภาพตามนโยบายรัฐ รวมถึงค่าขนส่งตามระยะทางด้วย

ค่าภาษีและกองทุนน้ำมัน สัดส่วนประมาณ 25% ประกอบด้วย

- ภาษีสรรพสามิต เรียกเก็บให้เป็นรายได้ของภาครัฐ เพราะน้ำมันจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย
- ภาษีเทศบาล เรียกเก็บเพื่อบำรุงท้องถิ่น คิดเป็น 10% ของภาษีสรรพสามิต
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม รัฐเรียกเก็บ ณ จุดจำหน่าย เช่นเดียวกับสินค้าประเภทอื่น ๆ เพื่อนำไปพัฒนาประเทศ อยู่ที่ 7%
- กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เรียกเก็บโดยกระทรวงพลังงานในช่วงที่ราคาลง เพื่อใช้ในการรักษาเสถียรภาพระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศเมื่อราคาน้ำมันผันผวน
- กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนอุดหนุนนโยบายอนุรักษ์พลังงานสำหรับสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยพัฒนาการใช้พลังงานทดแทน ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงานของประเทศ มีคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เป็นผู้กำกับควบคุม
- ค่าการตลาด สัดส่วนประมาณ 4% ซึ่งเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายและค่าดำเนินการต่าง ๆ รวมถึงกำไรของบริษัทผู้ค้าน้ำมัน

ซึ่งโครงสร้างราคาน้ำมันในแต่ละประเทศจะไม่เหมือนกัน โครงสร้างราคาน้ำมันของแต่ละประเทศ โดยหลักประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญตามข้างต้น ซึ่งโครงสร้างในแต่ละส่วนจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันตามนโยบายด้านพลังงานของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของค่าภาษีน้ำมันและกองทุนน้ำมัน จึงทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปของแต่ละประเทศไม่เท่ากันนั่นเอง อย่างมาเลเซีย ผลิตน้ำมันได้เอง รัฐบาลไม่มีนโยบายการจัดเก็บภาษี อีกทั้งยังมีมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันขายปลีกจากรายได้ของการผลิตและส่งออกพลังงาน จึงทำให้ราคาน้ำมันถูกกว่าไทย ส่วนเมียนมา มีโครงสร้างราคาน้ำมันเหมือนกับไทย แต่การจัดเก็บภาษีน้ำมันต่ำกว่า และไม่มีการเก็บเงินเข้ากองทุนต่าง ๆ ทำให้ราคาน้ำมันถูกกว่าไทยเช่นเดียวกัน พอจะมองภาพออกกันไหม

สำหรับคนที่กำลังสนใจอยากจะลงทุนในทรัพย์สินต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทองคำหรือน้ำมัน อย่าเพิ่งดูราคาที่เพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ควรพิจารณาและศึกษาข้อมูลอื่น ๆ ทั้งปัจจัยที่ส่งผลกระทบจากภายในประเทศและต่างประเทศควบคู่กันไปด้วย เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุนนะคะ

ที่มา : https://hilight.kapook.com/view/241372