จิปาถะ

ใครทำ ‘เศรษฐกิจฝืดเคือง’ สภาพคล่องแห้งเหือด?


19 มิถุนายน 2567
เศรษฐกิจไทยยังมีปัญหาต่อเนื่อง และเริ่มลุกลามไปยังภาคธุรกิจขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ โดยปัจจัยหลักมาจาก หนี้เสีย และ หนี้ที่ต้องเฝ้าจับตาดูเป็นพิเศษ ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ต้องตั้งคำถามว่าถึงเวลาที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างไรได้บ้าง

SDJ - ใครทำ ‘เศรษฐกิจฝืดเคือง’.jpg


ดูเหมือนว่า ปัญหาเศรษฐกิจที่ “ฝืดเคือง” จะเริ่มลามไปสู่ธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่แปลกเพราะทุกครั้งที่เกิดปัญหาเศรษฐกิจ กลุ่มแรกที่โดนผลกระทบก่อนคือกลุ่มคนฐานรากหรือธุรกิจขนาดเล็กๆ หากยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาจุดนี้ได้ เชื้อความรุนแรงจะค่อยๆ ลามไปสู่ธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ...อาการของเศรษฐกิจไทยเวลานี้ เราเริ่มเห็นผลกระทบที่ลามไปสู่กลุ่มธุรกิจขนาดกลางใหญ่เพิ่มมากขึ้นแล้วเช่นกัน

ข้อมูลที่เราหยิบยกมานำเสนออยู่บ่อยๆ คือ ตัวเลขหนี้เสีย(NPL) และหนี้ที่ต้องเฝ้าจับตาดูเป็นพิเศษ(SM) ซึ่งเริ่มผงกหัวสูงขึ้นแบบชัดเจน โดย NPL ของสินเชื่อธุรกิจขยับขึ้นจาก 2.57% ในไตรมาส 4 ปี 2566 เป็น 2.64% ในไตรมาสแรกปี 2567 เจาะดูไส้ในพบว่า ถ้าเป็นสินเชื่อที่มีวงเงินต่ำกว่า 500 ล้านบาท ขยับขึ้นจาก 6.72% เป็น 6.88% ส่วนธุรกิจที่มีสินเชื่อมากกว่า 500 ล้านบาท ก็เริ่มเห็น NPL ขยับจาก 1.09% เป็น 1.14%

หันมาดูสินเชื่อ SM กันบ้าง ซึ่ง SM เป็นสินเชื่อที่แบงก์เฝ้าจับตาดูเป็นพิเศษ(Special Mention Loan) เพราะกลิ่นเริ่มไม่ดี เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เริ่มจะไม่ชำระหนี้ตามปกติแล้ว คือ ไม่จ่ายภายใน 30 วัน แต่ยังไม่เกิน 90 วัน โดยกลุ่มนี้ถ้าดูภาพรวมของสินเชื่อธุรกิจ ขยับขึ้นจาก 5.45% ในไตรมาส 4 ปี 2566 เป็น 5.74% ในไตรมาสแรกปี 2567 เรียกได้ว่าเด้งขึ้นมาแบบชัดเจน และถ้าดูไส้ในจะพบว่า สินเชื่อที่มีวงเงินต่ำกว่า 500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 10.97% เป็น 11.47% ขึ้นมาถึง 0.5% ส่วนสินเชื่อที่มีวงเงินมากกว่า 500 ล้านบาทขึ้นไป ก็เริ่มขยับจาก 3.49% เป็น 3.73% ขึ้นมาถึง 0.24% เป็นสัญญาณที่ไม่สู้ดีนักท่ามกลางเศรษฐกิจที่เหมือนจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง

ทั้งหมดนี้ยังไม่นับหนี้ครัวเรือนที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ามันวิกฤติมานานมาก และสัญญาณหนี้เสียก็เริ่มปะทุให้เห็นชัดเจนมากขึ้นด้วย น่าห่วงว่า ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ยื่นมือเข้ามาดูแล(มากกว่าที่ทำอยู่) ทั้งประชาชนและภาคธุรกิจไทยคงจะจมลงในกองหนี้เสียอย่างแน่นอน ...ถามว่าปัญหาทั้งหมดเกิดจากอะไร ดอกเบี้ยสูงเกินไปหรือแบงก์ไม่ปล่อยกู้ ซึ่งถ้าดูตัวเลขสินเชื่อแบงก์พาณิชย์ก็ชัดเจนว่า แทบจะไม่เติบโตเลย บางกลุ่มสินเชื่อติดลบหนักด้วย เพราะกลัวว่าปล่อยไปแล้วจะกลายเป็นหนี้เสีย เวลานี้จึงชัดเจนว่า สภาพคล่องในระบบการเงินเหือดแห้งอย่างหนัก กลายเป็นปัญหางูกินหาง

ก็คงต้องหันมาถามว่า ระบบการเงินที่เหือดแห้งแบบนี้ ใครบ้างที่ควรต้องเข้ามาดูแล แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเช่นนี้ ครึ่งปีหลังเราได้แต่หวังว่า งบประมาณจากภาครัฐที่กำลังออกมา จะทำให้สภาพคล่องเริ่มดีขึ้น มีเงินมาหมุนเวียนในระบบมากขึ้น ช่วยเศรษฐกิจฟื้นจากภาวะฝืดเคือง แต่ระหว่างนี้ภาคธุรกิจคงต้องดิ้นรนกันเองเพื่อเอาตัวให้รอดก่อน ที่สำคัญเม็ดเงินจากภาครัฐคงไม่สามารถช่วยได้ในทุกธุรกิจ ที่เหลือเราจะปล่อยให้เป็นแบบตัวใครตัวมันอย่างนั้นหรือ!

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1132055