จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : ธุรกิจของ EA กำลังได้รับแรงหนุน เมื่อรัฐดันนโยบาย “Future Mobility Hub”


21 มิถุนายน 2567
รายงานพิเศษ ธุรกิจของ EA กำลังได้รับแรงหนุน.jpg

หากนึกถึงธุรกิจที่เกี่ยวกับ “ยานยนต์แห่งอนาคต”  หนีไม่พ้นต้องมีรถยนต์พลังงานไฟฟ้า  ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา  ซึ่งรัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน  ได้สนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต หรือ Future Mobility Hub โดยได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เพิ่มศักยภาพประเทศรองรับการผลิตรถยนต์ 


ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี พร้อมสนับสนุนทุกโอกาส ผลักดันประเทศตามวิสัยทัศน์ IGNITE Thailand ที่กำหนดไว้ ให้ไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาค ด้วยการสนับสนุนทุกโอกาส ความพร้อม เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันนี้ จึงทำให้ไทยเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่มีคุณค่าของภูมิภาคสำหรับนักลงทุนรายใหญ่ระดับโลก

ล่าสุด บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคชาวไทยและสานต่อแผนการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ประกาศลงนามต่อสัญญาว่าจ้างกับ บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด เป็นระยะเวลา 10 ปี รวมถึงการยกระดับบุคลากรไทย และสนับสนุนการทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศให้มีมาตรฐานระดับโลก

สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่เป็นส่วนสำคัญได้แก่  การผลิตแบตเตอรี่ สอดคล้องกับการทำธุรกิจของ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA)  ซึ่ง “สมโภชน์ อาหุนัย”  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า ปัจจุบัน EA ดำเนินธุรกิจ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. กลุ่มธุรกิจไบโอดีเซล  2. กลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน3. กลุ่มธุรกิจแห่งอนาคต เช่น แบตเตอรี่ ยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีชาร์จ  

ซึ่งในส่วนของธุรกิจแบตเตอรี่ ที่ปัจจุบันเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้ราคาต้นทุนผลิตปรับลดลง บริษัทได้ปรับตัวด้วยการเชิญผู้เชี่ยวชาญเข้ามาศึกษาและหาวิธีการปรับปรุง เพื่อทำให้โครงสร้างต้นทุนของธุรกิจแบตเตอรี่ลดลงและอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของ EA ในช่วงที่เหลือของปีจะได้แรงหนุนจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ก่อให้เกิดสงครามทางการค้าหนุนธุรกิจแบตเตอรี่ของบริษัท ทำให้วัตถุดิบถูกลงจากสินค้าล้นตลาด โดยมองว่าธุรกิจแบตเตอรี่จะกลับมาเป็นตลาดใหญ่ 

ความต้องการซื้อรถEV ที่ยังเติบโต สะท้อนจากยอดจดทะเบียนรถ EV  ในเดือนเม.ย. 67  โดย “สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ระบุว่า

ยอดจดทะเบียนยานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV)ในเดือน เม.ย.67 มีจำนวน 6,041 คัน ลดลง 16.60% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้มียอดจดทะเบียนสะสมรวม 35,755 คัน เพิ่มขึ้น 36.30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นับถึงวันที่ 30 เม.ย.67 มียอดจดทะเบียนทั้งสิ้น 167,334 คัน เพิ่มขึ้น 187.38% จากปีก่อน
ยอดจดทะเบียนใหม่ของยานยนต์ประเภทไฟฟ้า (HEV) มีจำนวน 10,414 คัน เพิ่มขึ้น 68.02% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้มียอดจดทะเบียนสะสมรวม 48,528 คัน เพิ่มขึ้น 58.41% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง หลังมีการผลิตรถยนต์ประเภทนี้ขนาดเล็กที่มีราคาถูกลง และผู้บริโภคไม่กังวลเรื่องการชาร์จไฟ นับถึงวันที่ 30 เม.ย.67 มียอดจดทะเบียนทั้งสิ้น 391,714 คัน เพิ่มขึ้น 35.06% จากปีก่อน

ยอดจดทะเบียนใหม่ของยานยนต์ประเภทไฟฟ้า (PHEV) มีจำนวน 639 คัน ลดลง 18.49% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้มียอดจดทะเบียนสะสมรวม 3,349 คัน ลดลง 19.73% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นับถึงวันที่ 30 เม.ย.67 มียอดจดทะเบียนทั้งสิ้น 57,269 คัน เพิ่มขึ้น 23.07% จากปีก่อน