Fund / Insurance

ไทยประกันชีวิต คว้ามาตรฐาน LEED Gold อาคารสีเขียวแห่งความยั่งยืนระดับโลก


25 มิถุนายน 2567
ไทยประกันชีวิต คว้ามาตรฐาน LEED Gold อาคารสีเขียวแห่งความยั่งยืนระดับโลก จาก U.S. Green Building Council (USGBC) & Green Business Certification Institute (GBCI)

ไทยประกันชีวิต copy.jpg

บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารสีเขียวของสหรัฐอเมริกา หรือ LEED (The Leadership in Energy and Environmental Design) ระดับ GOLD โดยผ่านการรับรองมาตรฐานจาก U.S. Green Building Council (USGBC) & Green Business Certification Institute (GBCI) โดยอาคารไทยประกันชีวิต สำนักงานใหญ่ ถ.รัชดาภิเษก ทั้งสองอาคาร ผ่านการรับรองมาตรฐาน LEED Version 4.1 ในประเภท O+M: EB หรือ LEED for Operations and Maintenances: Existing Buildings ซึ่งเน้นการจัดการและดูแลรักษาอาคารที่มีอยู่เดิม ด้วยการปรับปรุงอาคารและระบบให้มีการประหยัดพลังงานมากขึ้น มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของอาคาร ช่วยลดผลกระทบด้านลบ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

การได้รับการรับรองมาตรฐาน LEED ของไทยประกันชีวิต สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ “การเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งความยั่งยืนที่ส่งมอบคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้เสีย” โดยคำนึงถึงผลกระทบรอบด้าน ทั้งในมิติของสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social and Governance: ESG) เพื่อการบริหารจัดการองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ และพร้อมส่งมอบคุณค่าและการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งเป็นแนวคิดที่ไทยประกันชีวิตได้ยึดมั่นมากว่า 82 ปี

ทั้งนี้ เกณฑ์มาตรฐาน LEED (The Leadership in Energy and Environmental Design) หรือเกณฑ์มาตรฐานรับรองอาคารสีเขียว จะให้ความสำคัญต่อการออกแบบอาคารโดยคำนึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกอาคาร ยกระดับคุณภาพชีวิตและใส่ใจสุขภาพทั้งของผู้ใช้อาคาร รวมไปถึงคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบด้วย โดยเกณฑ์การพิจารณาครอบคลุมใน 7 หัวข้อ ได้แก่ 1. สถานที่และการขนส่ง (Location and Transportation) 2. การใช้ประโยชน์จากสถานที่ตั้งอย่างยั่งยืน (Sustainable Sites) 3. การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (Water Efficiency) 4. พลังงานและชั้นบรรยากาศ (Energy and Atmosphere) 5. วัสดุและทรัพยากร (Material and Resources) 6. คุณภาพสิ่งแวดล้อมภายในอาคาร (Indoor Environmental Quality) และ 7. นวัตกรรมในการออกแบบ (Innovation in Design)