จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : กลยุทธ์ “เจาะตลาดเป้าหมาย-บริหารต้นทุน” หนุนผลงาน CMAN ไตรมาส 2 เติบโต


25 มิถุนายน 2567
นโยบายการขยายธุรกิจออกไปยังต่างประเทศ ของบมจ.เคมีแมน (CMAN) สนับสนุนผลงานในไตรมาส 2 ให้เติบโตต่อเนื่อง  แม้ตลาดในประเทศการผลิตจะลดลง หม่อมหลวงจันทรจุฑา จันทรทัต ประธานกรรมการ บมจ.เคมีแมน (CMAN) ผู้ผลิตปูนไลม์ครบวงจรระดับท็อปเทนของโลก ภายใต้แบรนด์ CHEMEMAN  มั่นใจแนวโน้มผลงานไตรมาส 2/2567 แม้จะลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกที่ผ่านมา  แต่จะเติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสิ้นสุดฤดูกาลหีบอ้อย และหยุดเตาเผาปูนไลม์ 2 เตาเพื่อซ่อมบำรุง  ตามแผนซ่อมบำรุงประจำปี ซึ่งจะทำให้ปริมาณการผลิตลดลง

รายงานพิเศษ CMAN copy.jpg

แต่การขายยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยตลาดในประเทศยังเติบโตตามเศรษฐกิจ และตลาดต่างประเทศที่เป็นเป้าหมายยังเติบโตสูง สำหรับบริษัทย่อยในเวียดนามและออสเตรเลียมีออร์เดอร์ส่วนใหญ่จากสัญญาระยะกลาง และระยะยาวรองรับไว้แล้ว

ขณะที่บริษัทร่วมทุน 2 แห่งในอินเดียยังเดินหน้าผลิตอย่างสม่ำเสมอ และมีแนวโน้มผลการดำเนินงานเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตปูนไลม์ที่ร่วมมือกับ Khimsar Mine Corporation (KMC) เจ้าของเหมืองหินปูนรายใหญ่ในเมืองคิมซ่า รัฐราชสถาน จะเริ่มก่อสร้างโรงงานแห่งแรก มีกำลังการผลิตปูนไลม์ 100,000 ตัน ภายในไตรมาส 3 ปี 2567 และคาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2568

สำหรับกลยุทธ์ของบริษัทจะเน้นเจาะตลาดเป้าหมายที่ต้องการปูนไลม์คุณภาพสูง และสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับลูกค้า รวมทั้งบริหารจัดการต้นทุนและการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ โดยยึดแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ได้แก่ ชำระคืนเงินกู้เพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่าย และเพิ่มการลงทุนในรถบรรทุก EV หนุนภาพรวมทั้งปี 2567 ให้มีกำไรโดดเด่นเป็นประวัติการณ์

ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2567 บริษัทมีรายได้จากการขายและบริการ จำนวน 1,044 ล้านบาท ลดลง 2% แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทฯมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท จำนวน 173 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 87% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

"ผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ บริษัทมีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณขายในประเทศลดลงจากความต้องการปูนไลม์ของผู้ผลิตน้ำตาลที่ปรับตัวลง  เนื่องจากปริมาณหีบอ้อยลดลงจากปัญหาภัยแล้งในปีก่อน แต่จากการที่บริษัทมีเครือข่ายธุรกิจแข็งแรงทำให้ส่งออกเพิ่มขึ้นได้ โดยปริมาณส่งออกที่เพิ่มขึ้นนี้สามารถชดเชยกับปริมาณขายประเทศที่ลดลงได้ ขณะเดียวกันบริษัทมีต้นทุนขายลดลงเนื่องจากค่าพลังงานและต้นทุนการผลิตต่ำลง ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อนลงทำให้การรับรู้รายได้จากการส่งออกเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตรากำไรขึ้นต้นในไตรมาส 1/2567 เท่ากับ 38% เพิ่มขึ้น 6% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน" ม.ล. จันทรจุฑา กล่าว