Talk of The Town

ตะลึง! Robinhood ขาดทุนหนัก! ผลงานแย่ 4 ปีรวมกัน 5.5 พันล้านบาท จับตา SCB ตั้งด้อยค่าไตรมาส 3-4/67 ฉุดกำไร


26 มิถุนายน 2567
เมื่อคืนที่ผ่านมา บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB รายงานว่าคณะกรรมการของบริษัทมีมติอนุมัติให้ยุติการให้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood ของบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (PPV) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม SCBX ที่บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 100% 

S2T_(เว็บ) ตะลึง! Robinhood ขาดทุนหนัก!_0.jpg

โดยจะทำการยุติการให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน Robinhood ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป หลังจากแอปพลิเคชัน Robinhood ได้ดำเนินการตามภารกิจในการช่วยเหลือสังคมจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำเร็จลุล่วงด้วยดีตามเจตนารมณ์เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ การยุติการให้บริการดังกล่าวเป็นไปตามกรอบการบริหารเงินกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างมูลค่าให้ผู้ถือหุ้นอย่างยั่งยืน โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ของกลุ่ม SCBX ในการมุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจตามพันธกิจเพื่อเป็นกลุ่มเทคโนโลยีทางการเงินชั้นนำ

อย่างไรก็ตาม ทีมข่าว Share2Trade ได้สำรวจงบการเงิน บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ จำกัด ผ่านเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่าตั้งแต่ปี 2563 มีผลการดำเนินงานขาดทุนอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2563 ขาดทุน 87 ล้านบาท

ส่วนปี 2564 ขาดทุนเพิ่มเป็น 1,335 ล้านบาท ปี 2565 ขาดทุนเพิ่มอีก 1,986 ล้านบาท และปี 2566 ขาดทุนสูงถึงระดับ 2,155 ล้านบาท ดังนั้นสรุปได้ว่า ตั้งแต่ปี 2563-66 ขาดทุนรวมกัน 5.5 พันล้านบาท

ขณะที่นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด มีมุมมองเป็นลบเล็กน้อยต่อประเด็นดังกล่าว แม้ในระยะยาวการที่บริษัท Purple Ventures (บริษัทที่ให้บริการ Robinhood) ยกเลิกการให้บริการดังกล่าวไป จะช่วยให้ SCB ไม่ต้องแบกรับ ผลขาดทุนราวปีละ 2,000 ล้านบาท 

โดยอาจจะเพิ่มขึ้นอีกหลังจากให้บริการ Robinhood Driver ในปี 2567 เพราะธุรกิจของ Robinhood มีนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย จึงมีค่าคอมมิชชั่นที่เก็บจากทั้ง Rider และผู้ใช้บริการน้อยกว่าผู้ให้บริการรายอื่น

รวมถึงสามารถนำเงินลงทุนไปใช้ลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ Consumer Finance หรือธุรกิจ Digital Loan รวมถึงเตรียมพร้อมสำหรับการลงทุนขยายธุรกิจ Virtual Bank ที่จะร่วมกับ Kakao Bank และ WeBank  

อย่างไรก็ดีตลาดอาจจะตอบรับเชิงลบในช่วงสั้น เนื่องจาก SCB ต้องตั้งค่าใช้จ่ายด้อยค่าทรัพย์สินของ Purple Venture เข้ามาในงบกำไรขาดทุน (คาดจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 3-4/67) ซึ่งปัจจุบัน SCB อยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกับ Auditor ว่าต้องตั้งด้อยค่าเป็นจำนวนเท่าไหร่ 

แต่หากพิจารณาจากมูลค่าทรัพย์สินของ Purple Venture ในปี 2566 อยู่ที่ 3,532 ล้านบาท ทำให้มอง ว่าในกรณีเลวร้ายที่สุด ประเด็นดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อประมาณการราว 2,699 ล้านบาท ภายใต้ สมมุติฐานตั้งด้อยค่าเต็มมูลค่าของสินทรัพย์ที่ 3,532 ล้านบาท 

หักด้วยผลขาดทุนจาก Purple Venture ที่คาดจะลดลงไป 833 ล้านบาท หลังหยุดให้บริการ (คำนวณผลขาดทุน 5 เดือนหลังจากที่หยุดให้บริการ Robinhood) คิดเป็นผลกระทบต่อประมาณการกำไรสุทธิปี 2567 ราว 2,699 ล้านบาท หรือลดลง 5.9% จากประมาณการเดิมที่ 46,037 ล้านบาท

ทั้งนี้จากการสอบถามไปยังบริษัทเบื้องต้น คาดผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงทั้งทางบวกและทางลบจะชดเชยกันได้พอดี ทำให้มีโอกาสที่ผลจากการตั้งด้อยค่าทรัพย์สินของ Purple Venture จะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ และเป็นผลดีต่อบริษัทในระยะยาว 

ทำให้มองว่าหากราคาปรับตัวลงจากความกังวลต่อค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงสั้น จะเป็นจังหวะซื้อลงทุนที่น่าสนใจ เพราะแม้จะหัก ค่าใช้จ่ายด้อยค่าในกรณี Worst Case แล้ว SCB ยังมีความสามารถในการจ่ายปันผลได้ในระดับปีละ 7% และปัจจุบันราคาหุ้นยังมี Upside 20.8% จากมูลค่าพื้นฐานปี 2567 เดิมที่ 128 บาท จึงคงาแนะนำ “ซื้อ”