กองทุนวายุภักษ์ VS ThaiESG เลือกกองทุนไหนดี? ประหยัดภาษี หรือ การันตีผลตอบแทน
ไม่พูดถึงกองทุนความหวังของหมู่บ้าน 2 กองทุน กองทุนวายุภักษ์ ที่กำลังอยู่ระหว่างการปัดฝุ่นขึ้นมาอีกครั้ง และกองทุน ThaiESG ที่กระทรวงการคลัง ตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือบรรดาโบรกเกอร์มองว่าจะเป็นความหวังของหมู่บ้าน ช่วยรับแรงกระแทก การเทขายของนักลงทุนต่างชาติ ที่ไม่รู้เอาหุ้นจากที่ไหนมาขาย
โดยตั้งแต่ต้นปี-27 มิถุนายน 2567 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 114,411.06 ล้านบาท นักลงทุนในประเทศซื้อสุทธิ 110,317.96 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิเพียง 5,662.73 ล้านบาท
ย้อนหลัง 20 ปีที่ผ่านมา หลังวิกฤติต้มย้ำกุ้งในปี 2540 ตลาหุ้นไทยที่เคยเฟื่องฟู ดัชนีหล่นวูบจากระดับ 1,600 จุด ลงมาแถว 200 จุด รัฐบาล “ทักษิณ” มีแนวคิดจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นขึ้น ซึ่งเป็นที่มาการเกิดขึ้นของ “กองทุนวายุภักษ์” ในปี 2546
โดยแบ่งออกเป็น 2 หน่วยคือ “หน่วย ก.” สำหรับนักลงทุนทั่วไป และ “หน่วย ข.” สำหรับกระทรวงการคลังและหน่วยงานอื่นโดยผู้ลงทุนหน่วย ก. หรือนักลงทุนทั่วไปการันตีผลตอบแทนขั้นต่ำ 3% ต่อปี เป็นเวลา 10 ปี ขั้นสูง 7-9% หลังครบกำหนด 10 ปี กองทุนทุนวายุภักษ์ให้ผลตอบแทน กองทุนวายุภักษ์สามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ย ได้ถึง 14.96% ต่อปี แต่ถ้ามาดูผลตอบแทนกองทุนวายุภักษ์ “หน่วย ข.” ที่แปลงร่างมาเป็นกองทุนเปิด ตั้งแต่ปี 2556 บริหารโดยบลจ.กรุงไทย และบลจ.เอ็มเอฟซี จะพบว่า ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีไม่ได้สูงมาก
จากรายงานข้อมูลกองทุนวายุภักษ์ 1 ย้อนหลัง ณ วันที่ 31 พ.ค.67 พบว่า ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี -4.43% ย้อนหลัง 1 ปี 3.81% ย้อนหลัง 3 ปี 1.84% ย้อนหลัง 5 ปี -1.15% ย้อนหลัง 10 ปี ให้ผลตอบแทนเพียง 2.59%
มาดูกันที่ความหวังของหมู่บ้าน กองทุนที่สอง กองทุน TESG เริ่มเมื่อปี 2566 กองทุนประหยัดภาษีรูปแบบใหม่ที่เน้นการลงทุนในหุ้นยั่งยืน หรือที่เรียกกันว่า TESG ปัจจุบันมีการออกกองทุน TESG แล้วทั้งสิ้น 30 กอง โดยสิ้นไตรมาสหนึ่ง คิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ที่ 6.6 พันล้านบาท
ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ -2.43% (ผลตอบแทนเฉลี่ย SET TR อยู่ที่ -1.62 %) มีเพียง 3 กองทุนเท่านั้น ที่สามารถเอาชนะ SET TR index ได้ คือ Bualuang Top-Ten Thailand ESG +1.54% ซึ่งเป็นกองทุนหุ้นไทยกองเดียวที่ยังสามารถให้ผลตอบแทนในแดนบวกอยู่ ตามด้วย Krungthai ESG A Grade 70/30- ThaiESG และ Asset Plus Equity Thailand ESG ซึ่งให้ผลตอบแทนติดลบที่ -1.30% และ - 1.48% ตามลำดับ
ล่าสุด นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมเสนอการปรับเงื่อนไขกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG Fund) เพื่อส่งเสริมการออมผ่านการลงทุนในตลาดทุน สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนและกระตุ้นเม็ดเงินตลาดทุนในระยะยาว โดยจะมีการปรับเงื่อนไข 3 เรื่อง ได้แก่
1.การขยายวงเงิน ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมินและซื้อได้สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท จากเดิมไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ จากผลการศึกษาพบว่า เงินลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ทุก 1 หมื่นล้าน จะส่งผลต่อดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) 25-27 จุด อีกทั้งจะเป็นทางเลือกในการออมให้กับกลุ่มคนอายุน้อย อาชีพอิสระและกลุ่มคนที่ลงทุนในวงเงินเกษียณ เช่น RMF ไม่เต็มจำนวน
2.การปรับระยะถือครอง 5 ปี นับจาก วันที่ซื้อ เพื่อดึงดูดกลุ่มคนอายุน้อย อาชีพอิสระที่รับความเสี่ยงการลงทุนในหลักทรัพย์ได้ แต่ต้องการสภาพคล่องสูงกว่า
3.การขยายนโยบายลงทุน ส่งเสริมให้มีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินการที่สร้างความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนในมิติที่ครอบคลุมมากขึ้นจากเดิมที่มุ่งเน้นกิจการที่โดดเด่นด้าน สิ่งแวดล้อม (Environment) ให้เพิ่มเติมด้านธรรมาภิบาล (Governance) และส่งเสริมความโปร่งใส ให้ข้อมูลเชิงมูลค่าประกอบการตัดสินใจมากขึ้น
เห็นความแตกต่างระหว่างกองทุนวายุภักษ์ และกองทุน Thailand ESG แล้ว!
ชัดเจนว่าใครที่รับความเสี่ยงได้ต่ำน่าจะมองไปที่กองทุนวายุภักษ์ เพราะการันตีผลตอบแทนส่วนจะเป็น 3% ต่อปี ภายใต้เงื่อนไขกองปิดเหมือนเดิมหรือไม่ อันนี้ต้องตรวจสอบรายละเอียดหลังเข้าครม.น่าจะภายในไตรมาส 3 แต่ถ้าจะคาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 10% น่าจะยาก เพราะบริบทตลาดทุนต่างกัน เพราะฐานเดิมที่ให้ผลตอบแทนสูง ฐานดัชนีอยู่ในระดับต่ำ แต่ปัจจุบันดัชนีตลาดหุ้นไทยอยู่แถวๆ 1,300 จุด การจะได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10% คงเป็นเรื่องที่ยาก
ส่วนกองทุน Thailand ESG การลงทุนที่สั้นลงจาก 8 ปี เหลือ 5 ปี น่าจะพอทำให้นักลงทุนที่หวังแต้มต่อเรื่องของการประหยัดภาษี และผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นหรือตราสารหนี้ ที่สามารถรับความเสี่ยงสูงได้กว่ากองทุนวายุภักษ์
เชื่อว่าทั้งสองกองทุนจะเป็นความหวังของหมู้บ้านที่ช่วยขับเคลื่อนตลาดทุนไทยให้กลับมามีเสถียรภาพได้อีกครั้ง หลังจากในช่วง 2 ปีครึ่ง ต่างชาติขายสุทธิกว่า 3 แสนล้านบาท และยังมีแนวโน้มขายออกมาอย่างต่อเนื่อง
เพราะตลาดหุ้นไทยยังไร้ปัจจัยบวกเข้ามาหนุน ทั้งปัจจัยพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนที่แนวโน้มผลการดำเนินงานยังชะลอตัว ขณะที่ปัจจัยการเมืองในประเทศยังกดดัน!!!