Wealth Sharing
หุ้นไทยแย่สุดในโลก สรุปครึ่งปีแรกต่างชาติเทหนัก ดัชนีดิ่งนรก โบรกฯ ชี้ไตรมาส 3 ได้เห็น 1,420 จุด
01 กรกฎาคม 2567
จบไปแล้วสำหรับรอบครึ่งปีแรก 2567 ซึ่งเป็นช่วงที่มีหลายปัจจัยเข้ามาส่งผลต่อตลาดทุนอย่างมีนัยสำคัญ โดยทีมข่าวได้ทำการสำรวจข้อมูลความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีแรกปี 2567 (ณ วันที่ 28 มิ.ย.67) พบว่า ปรับตัวลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นหลักๆ ในโลก โดยปรับตัวลดลงถึง 8.11% มาอยู่ที่ระดับ 1,300 จุด
ทั้งนี้บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด รายงานตัวเลขดัชนีช่วงครึ่งปีแรก 2567 พบว่า ดัชนีตลาดหุ้น ไต้หวันปรับตัวเพิ่มขึ้นมากสุดที่ระดับ 28.45% ตามด้วย ญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 18.28% และ NASDAQ เพิ่มขึ้นที่ 18.13%
ขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังเทขายหุ้นไทยมากที่สุดในภูมิภาคด้วยเช่นกัน หากอิงบทวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) พบว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ต่างชาติขายหุ้นไทยมากสุดในภูมิภาคกว่า 3,231 ล้านดอลลาร์ฯ
ตามด้วยเวียดนาม 2,066 ล้านดอลลาร์ฯ , ฟิลิปปินส์ 527 ล้านดอลลาร์ฯ, อินโดนีเซีย 427 ล้านดอลลาร์ และมาเลเซีย 200 ล้านดอลลาร์ฯ โดยตลาดหุ้นที่เม็ดเงินนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิมากที่สุด คือ ญี่ปุ่น ที่ต่างชาติซื้อสุทธิกว่า 37,884 ล้านดอลลาร์ฯ
ด้านนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ให้มุมมองว่า อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่ทยอยสูงขึ้นในช่วง 1-2 ปีนี้สู่ระดับ 5.50% ซึ่งแตกต่างจากดอกเบี้ยไทยที่อยู่ระดับ 2.50% ส่งผลให้เม็ดเงินของคนไทยไหลออกไปฝากเงิน ตปท.อย่างมีนัยสำคัญ
โดยยอดคงค้าง FCD ของคนไทย เร่งตัวขึ้นอย่างมาก หลังดอกเบี้ยสหรัฐฯ-ไทย มีส่วนต่างที่กว้างขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565 ซึ่งยอดคงค้าง FCD ของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 เติบโต 17.9%จากปีก่อนหน้า, ปี 2566 เติบโต 38%จากปีก่อนหน้าและปีล่าสุด ณ พ.ค.24 เติบโต 8.1% จากปีก่อนหน้า ล่าสุดอยู่ที่ 2.18 หมื่นล้านเหรียญฯ หรือราว 8 แสนล้านบาท
ส่วนเม็ดเงินของต่างชาติก็ไหลออกจากประเทศไทยเช่นกันในช่วงที่ผ่านมา โดยต่างชาติขายหุ้นและตราสารหนี้ไทยรวมกว่า 1.22 ล้านล้านบาท (รวม 11.5 ปี) แบ่งเป็นขายหุ้น 1.08 ล้านล้านบาท และ ตราสารหนี้ไทย 1.38 แสนล้านบาท ซึ่งถ้าหากพิจารณาในช่วง 1.5 ปี เม็ดเงินของต่างชาติไหลออกตลาดการเงิน 5.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นขายหุ้น 3.1 แสนล้านบาท และตราสารหนี้ไทย 2.1 แสนล้านบาท เป็นต้น
ทั้งนี้ จากประเด็นดังกล่าว ส่งผลให้เม็ดเงินขับเคลื่อนดัชนีหายไปในระดับหนึ่ง และกดดันจนล่าสุดลงมาอยู่ที่ระดับ 1300 จุด ซึ่งมูลค่าของดัชนีในระดับดังกล่าวอยู่ในระดับที่น่าสนใจมาก โดยมี P/E ที่ต่ำเพียง 14.2 เท่า , PBV 1.22 เท่า และอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงถึง 3.5% บวกกับความคืบหน้าการเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ, รอรับเม็ดเงินจากกองทุนTHAIESG ใหม่เข้ามาหนุน คาดจะช่วยหนุนให้ดัชนีค่อยๆ ทยอยฟื้น รวมถึงต่างชาติอาจจะค่อยๆ ขายสุทธิเบาลงได้
ด้านนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ให้มุมมองว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยไตรมาส 3/67 จะฟื้นตัวขึ้นทดสอบ 1,420 จุด โดยคาดกรอบการเคลื่อนไหวอยู่ที่ 1,280-1,420 จุด จะแกว่ง Sideway Up แต่ถ้าพิจารณาปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในประเทศที่จะเข้ามากระทบตลาดในช่วงไตรมาส 3/67 คาดว่าดาวน์ไซด์หุ้นไทยอยู่ในระดับจำกัดมากแล้ว
ด้วยมูลค่าที่ถูกกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต โดย PER2567 อยู่ที่ 14.4 เท่า และ PBV 1.3 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลังที่ 16.5 เท่า และ 1.8 เท่า ตามลำดับ และมาตรการสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดทุนของหน่วยงานภาครัฐ เช่น Uptick Rule, ลดจำนวนหุ้นที่ให้ Short Sell ผ่านการปรับเพิ่ม Market Cap เป็น 7,500 ล้านบาท จาก 5.000 ล้านบาท และการตรวจสอบธุรกรรมที่ผิดปกติอย่างเข้มงวดมากขึ้น ทำให้แรง Short Sel หลังจากนี้ชะลอตัวลงรวมถึง การปรับเกณฑ์กองทุน ThaiESG ให้ลดหย่อนภาษีได้มากขึ้นเป็น 300,000 บาท และลดเวลาถือครองลงเหลือเพียง 5 ปี
ขณะที่อัพไซด์ของตลาดจะได้แรงหนุนจากการปรับตัวลดลงของดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐฯหลังจากธนาคารกลางแคนาดา, ยุโรป และสวิสเธอร์แลนด์ เริ่มลดดอกเบี้ยไปแล้ว ส่งผลให้ Dollar Index พักตัวลง เป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการปรับตัวขึ้นของกลุ่มตลาดหุ้นเกิดใหม่
และการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ที่จะกระตุ้นให้ GDP ไตรมาส 2/67-3/67 เร่งตัวขึ้น จากที่ทำได้เพียง 1.5%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในไตรมาส 1/67 รวมไปถึงผลประกอบการไตรมาส 2/67 ของบริษัทจดทะเบียนไทยมีโอกาสออกมาเซอร์ไพรส์เชิงบวกต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2
ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ เสถียรภาพของการเมืองไทย ที่คาดกรณีของนายกฯ เศรษฐาและพรรคก้าวไกล จะมีความชัดเจนในเดือน ก.ค. ความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่มีโอกาสรุนแรงขึ้นก่อนสหรัฐฯ เลือกตั้งวันที่ 5 .ย. และประเด็นการเมืองในฝั่งยุโรป โดยเฉพาะฝรั่งเศลที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเริ่มมีคะแนนเสียงในสภายุโรปมากขึ้น
โดยธีมการลงทุนหลัก คือ อิงแนวโน้มขาลงของอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก, หุ้น Defensive Play จากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์, มาตรการ Uptick Rule หนุนหุ้นที่มีสถานะชอร์ตคงค้างสูงให้ฟื้นตัว และ 4) หุ้นที่ได้ประโยชน์จากงบประมาณภาครัฐ หุ้นแนะนำเชิงกลยุทธ์ในไตรมาส 3/67 คือ BANPU, BEM, CPALL, CPF, GPSC, SPRC และ STA