จับประเด็นหุ้นเด่น

สัมภาษณ์พิเศษ : "ไทยฟู้ดส์ เฟรช มาร์เก็ต" New S Curve ช่วยหนุนรายได้ TFG โตอย่างยั่งยืน


02 กรกฎาคม 2567

ติดตามมุมมองและแนวคิดผู้บริหาร บมจ.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG)  เกี่ยวกับการตั้ง "ไทยฟู้ดส์ เฟรช มาร์เก็ต" New S Curve ใหม่  ซึ่งจะมีความโดดเด่นและมีเป้าหมายอย่างไร  กับ “เพชร  นันทวิสัย”  ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ     

รายงานพิเศษ ไทยฟู้ดส์ เฟรช มาร์เก็ต New S Curve ช่.jpg

โครงสร้างธุรกิจของ TFG

บริษัทเป็นผู้ผลิตอาหารครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ  มีธุรกิจมี 4 ส่วน

1.ไก่  สร้างรายได้ 30%

2.สุกรในไทยและเวียดนาม  รวมถึงโรงชำแหละ  สร้างรายได้ 30%

3.ธุรกิจฟีด ซึ่งเป็นธุรกิจที่เราผลิตอาหารสัตว์ และขายให้ลูกค้า    สร้างรายได้ 10%

4.ธุรกิจด้าน Retail  ร้านค้าปลีก "ไทยฟู้ดส์ เฟรช มาร์เก็ต" เป็นNew S Curve  ปัจจุบันมี 380 สาขา  สิ้นปีมี 450  สาขา

สรุปเหตุผลลุยธุรกิจ Retail

บริษัทเริ่มต้นทำธุรกิจในแบบ B2B  โดยเน้นการขายให้กับบริษัทใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  แต่ในช่วงโควิดทำให้กระทบการส่งออกไก่  เริ่มตั้งแต่การปิดประเทศครั้งแรกในปี 2020  ทำให้การซื้อขายสินค้าต้องหยุดชะงักลง  จนเกิดความคิดว่า ควรต้องมีช่องทางการจัดจำหน่ายของเราเอง  จึงเริ่มต้นทำธุรกิจ Retail ร้านค้าปลีก "ไทยฟู้ดส์ เฟรช มาร์เก็ต" ในปี 2020  เริ่มจาก 2 สาขา  แล้วขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีเกือบ 400  สาขา  

ซึ่งจุดเริ่มต้นที่มาจากความต้องการมีช่องทางจัดจำหน่ายของตัวเอง แต่ผลประโยชน์ที่ได้กลับมามีมากกว่าที่คาดการณ์ สามารถประหยัดต้นทุนในการผลิต  เพราะเราสามารถสร้างโรงงานและออกแบบไลน์การผลิตได้ต้นทุนที่ถูกที่สุด  รวมทั้งต้นทุนด้านการขนส่งที่สามารถกำหนดได้จากการเลือกทำเลการตั้งสาขาให้ได้ประโยชน์มากที่สุด  

วางเป้าหมาย“ไทยฟู้ดส์ เฟรช มาร์เก็ต”อย่างไร

“ไทยฟู้ดส์ เฟรช มาร์เก็ต” จะเป็น New S Curve  เป็น แฟล็กชิปที่จะเปลี่ยนตลาด  จะเป็นเรือธงที่ขยายตลาดของบริษัท  และยังเป็นตัวสร้างรายได้ตัวใหม่ให้กับบริษัท  เนื่องจากเป็นสิ่งที่สร้างโอกาสด้านอื่นให้บริษัท เช่น การขายสินค้าปรุงสุก หรือสินค้าอื่นๆในShop ของเรา  ทำให้เปลี่ยนโฉม TFG ได้มาก  ซึ่งปัจจุบันเรามี หลายพัน SKU มีทั้งอาหารแช่แข็ง  อาหารพร้อมปรุง  อาหารพร้อมทาน  และกลุ่มเนื้อสัตว์ที่เราผลิตเอง  ซึ่งช่วงแรก TFG ตั้งแต่จะเน้นขายผลิตภัณฑ์ของตนเอง  แต่ปัจจุบันสัดส่วนผลิตภัณฑ์ของบริษัทอยู่ที่ 70% ส่วนสินค้าของบริษัทอื่นอยู่ที่  30%  เนื่องจากเราต้องการให้ร้านของเราเป็น One stop service  สำหรับลูกค้า

กลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการ "ไทยฟู้ดส์ เฟรช มาร์เก็ต"

ปัจจุบันมีลูกค้าเข้ามาซื้อของในร้านเราทุกแห่งรวมแล้วเกือบ  2 แสนคนต่อวัน และมีฐานลูกค้าเกือบ 1 ล้านคน  ทำให้การออกผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทำได้ง่ายขึ้น 

มาร์จิ้นของกลุ่มธุรกิจ

จริงๆแล้ว ในส่วนของธุรกิจค้าปลีก มี Gross Profit  ประมาณ 17-20%  ทำให้เราสามารถกำหนดราคาเมื่อเทียบกับที่ขายที่โรงเชือด  ทำให้กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้น และสามารถรักษามาร์จิ้นของบริษัทให้ดีขึ้น  ซึ่งในภาพรวมรายได้ปีนี้น่าจะแตะได้ที่ 22,000  ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่อยู่ที่ 18,000 ล้านบาท

โลเคชั่นร้านค้าปลีกปัจจุบัน

สาขาที่อยู่เหนือสุดของเราอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก   ภาคใต้มีแค่ที่ประจวบคีรีขันธ์  ภาคตะวันออกและตะวันตก ก็มีสาขา  ซึ่งครอบคลุมพื้นที่สำคัญทั่วประเทศ สำหรับแนวทางการขยายสาขาในแต่ละพื้นที่จะอยู่ที่โลจิสติกส์ และSupply Chain เป็นหลัก  ทางภาคตะวันออกเรามี Supply Chain อยู่ที่ปราจีนบุรี  ส่วนตะวันตกมีที่ กาญจนบุรี  นครปฐม   ทางอีสานอยู่ที่ขอนแก่น  

มูลค่าการลงทุนในแต่ละสาขา

การลงทุนอยู่ที่สาขาละประมาณ 8-10  ล้านบาท   ที่เราปรับการลงทุนให้เพิ่มเป็นสาขาละ 10 ล้านบาท  เนื่องจากต้องการพื้นที่ที่มากขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต   ซึ่งในครึ่งปีหลังจะใช้เงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 700  ล้านบาท  

รายได้ของบริษัท

มาจากผลิตภัณฑ์ไก่และสุกร ประมาณประเภทละ 30%  จากร้านค้าปลีก "ไทยฟู้ดส์ เฟรช มาร์เก็ต" ประมาณ 30%   ส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจ Feed ประมาณ 10%  

แผนการลงทุนของTFG

ปีนี้คิดว่าการลงทุนหลักอยู่ที่กลุ่ม "ไทยฟู้ดส์ เฟรช มาร์เก็ต" ประมาณ 1,000 ล้านบาท  และอาจมีการลงทุนในธุรกิจสุกรในเวียดนาม  และการเตรียมตัวเพื่อรองรับปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ  โดยรวมการลงทุนอยู่ที่ประมาณ 2,000  กว่าล้านบาท  

แผนระยะ 3-5 ปีข้างหน้า

เราน่าจะเดินโดยเน้น ร้านค้าปลีก"ไทยฟู้ดส์ เฟรช มาร์เก็ต" ซึ่งเป็นเรือธงของเราในประเทศไทย ขณะที่การลงทุนหลักในประเทศเวียดนามยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ทั้งเรื่องของประชากรที่อายุไม่มาก  ทำให้ยังมีกำลังซื้อ

TFG