The IPO

รู้จัก PKN ผู้ผลิต-จำหน่ายสินค้าลิขสิทธิ์ แบรนด์ดังของโลก กำลังจะเข้าตลาดหุ้น


02 กรกฎาคม 2567

เร็วๆ นี้ตลาดหุ้นไทยกำลังจะมีผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าสินค้าลิขสิทธิ์เข้าจดทะเบียน อย่าง บริษัท พีเคเอ็น อินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PKN โดยมีแผนเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) และมีบริษัท ออพท์เอเชีย แคปิตอล จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

S2T (เว็บ) รู้จัก PKN ผู้ผลิต-จำหน่ายสินค้าลิขสิ_.jpg

PKN ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2559 โดยนายปรินทร์ธรณ์ อภิธนาศรีวงศ์และนางสาวเกตุญาณินท์ จีรพัฒน์ชนากร ซึ่งนายปรินทร์ธรณ์ มีประสบการณ์ในธุรกิจบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภคและบริโภคมานานกว่า 36 ปี ในฐานะผู้ถือหุ้นหลัก และผู้บริหาร SFLEX และ บริษัท สตาร์ปริ๊นท์ จำกัด (มหาชน) (SPRINT)

ส่วนนางสาว เกตุญาณินท์ มีประสบการณ์ในการทำงานด้านกลุ่มธุรกิจ (B2B) รวมถึงผลิตและจำหน่ายสินค้าภายใต้ตราสินค้าของบริษัทให้กับผู้บริโภค (B2C) โดยเฉพาะด้านการตลาดและโลจิสติกส์บรรจุภัณฑ์และสิ่งพิมพ์ในธุรกิจสินค้าอุปโภค บริโภคมากว่า 20 ปี

ทั้งสองได้เล็งเห็นถึงโอกาสเติบโตของบรรจุภัณฑ์แบบพรีเมียม (Premium Packaging) โดยการนำสินทรัพย์ทางปัญญาประเภทตัวละครลิขสิทธิ์ (Character หรือ คาแรคเตอร์) อนิเมะจากญี่ปุ่น หรือ แอนิเมชั่นจากสหรัฐอเมริกาที่ได้รับความนิยม มาสร้างมูลค่าเพิ่ม จึงได้ก่อตั้ง PKN เพื่อประกอบธุรกิจออกแบบ ผลิตและขายสินค้าลิขสิทธิ์ สินค้าไลฟ์สไตล์ (Lifestyle) และสินค้าพรีเมียมอื่นให้กับลูกค้า

PKN ได้รับลิขสิทธิ์ทั้งจากตัวการ์ตูน คาแรคเตอร์ จากภาพยนตร์หรือแอนิเมชั่นเป็นที่นิยมมากกว่า 100 คาแรคเตอร์ จากผู้ให้ลิขสิทธิ์ชั้นนำจากทั้งฝั่งสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น เช่น (1) Universal Studio Licensing เจ้าของลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์ Minion และ Felix the cat และลิขสิทธิ์จากภาพยนตร์เรื่อง Fast and Furious และ Puss in Boots 2 เป็นต้น 

(2) Dream Express ตัวแทนในการดูแลลิขสิทธิ์ของคาแรคเตอร์จากแอนิเมชั่นชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่นอย่าง Gundam, One Piece, Demon Slayer Kimetsu No Yaiba, Ultraman, Masked Rider และ Detective Conan เป็นต้น 

และ (3) The Walt Disney เจ้าของลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์จากภาพยนตร์ Avengers, Spider-Man และ Marvel เป็นต้น รวมถึงมีคาแรคเตอร์จากศิลปิน (Creator) ชาวไทย

ลูกค้ากลุ่มธุรกิจที่นำไปจัดจำหน่ายต่อหรือเป็นสินค้าส่งเสริมการขาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ในหลายอุตสาหกรรมที่มีความสัมพันธ์ที่ดีและมีการเติบโตของยอดขายอย่างต่อเนื่อง และสำหรับลูกค้าผู้บริโภคภายใต้เครื่องหมายการค้า IGNITE ที่พัฒนาและจำหน่ายภายใต้บริษัทเอง

ขณะที่ผลประกอบการย้อนหลังระหว่างปี 2564-2566 มีรายได้รวม 141.22 ล้านบาท 238.07 ล้านบาท และ 252.06 ล้านบาท ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ปี 2564 มีขาดทุนสุทธิ 5.74 ล้านบาท แต่ปี 2565 พลิกมีกำไรสุทธิ 0.20 ล้านบาท และปี 2566 กำไรสุทธิเพิ่มเป็น 13.65 ล้านบาท

โดยในปี 2564 บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการขายและจัดจำหน่ายและค่าใช้จ่ายในการบริหารเมื่อคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ที่สูง เนื่องจาก บริษัทได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในระลอกที่ 2 ช่วงเดือนธันวาคม 2563 และระลอกที่ 3 ช่วงเดือนเมษายน 2564 ซึ่งกระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศและลูกค้าหลักของบริษัทโดยเฉพาะธุรกิจภาพยนตร์และธุรกิจอุปโภคบริโภค

สำหรับการเข้าตลาดหุ้นในครั้งนี้ PKN มีวัตถุประสงค์การใช้เงินจากการระดมทุน เพื่อนำไปเป็นเงินลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและมีศักยภาพในอนาคต เช่น การเข้าซื้อกิจการ(M&A) และเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ

บริษัทมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมสินค้าลิขสิทธิ์ โดยเล็งเห็นถึงศักยภาพของตลาดสินค้าลิขสิทธิ์ซึ่งคาดว่าตลาดในประเทศไทยจะสามารถเติบโตดังเช่นในตลาดต่างประเทศ อย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน ที่มีมูลค่าตลาดในปี 2023 เท่ากับ 173,434 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 16,984 ล้านดอลลาร์สหรัฐและ 14,207 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

ซึ่งคาดว่ารายได้สินค้าลิขสิทธิ์ในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 7.06 ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2567 – 2570 และจะมีมูลค่าตลาดสินค้าลิขสิทธิ์ในประเทศไทยในปี 2570 เท่ากับ 967 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

บริษัทมีเป้าหมายที่จะมีรายได้ ประมาณ 1,000 ล้านบาทภายในปี 2568 และมีเป้าหมายระยะยาวที่จะเป็นผู้นำด้านสินค้าลิขสิทธิ์สำหรับลูกค้ากลุ่มธุรกิจและผู้บริโภคในอาเซียน 

โดยมีสัดส่วนรายได้จากการขายสินค้าลิขสิทธิ์ให้กับลูกค้ากลุ่มธุรกิจเดิมและขยายตัวไปยังลูกค้าที่มีศักยภาพใหม่ในประเทศไทยประมาณร้อยละ 50 และมีสัดส่วนรายได้สินค้าลิขสิทธิ์จากการขยายไปยังลูกค้าธุรกิจต่างประเทศร้อยละ 10 และมีสัดส่วนรายได้จากการขายสินค้าภายใต้แบรนด์ ‘IGNITE’ ผ่านการขยายตัวของช่องทางการขายแบบออฟไลน์ (ร้านค้าตัวแทนและเปิดสาขาของบริษัท) ร้อยละ 10 และช่องทางออนไลน์ร้อยละ 10 

และอีกร้อยละ 20 จะเป็นรายได้จากการขยายธุรกิจโดยการซื้อกิจการหรือร่วมทุน (M&A) ในบริษัทที่มีศักยภาพและสามารถต่อยอดธุรกิจสินค้าลิขสิทธิ์ได้อย่างมั่นคงหรือลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์และความบันเทิง (Entertainment) เพื่อให้เกิด Synergy ใหม่ๆ 

หมายเหตุ ข้อมูลอ้างอิงจาก แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน PKN

รู้จัก PKN ผู้ผลิต-จำหน่ายสินค้าลิขสิทธิ์-01_0.jpg

PKN