Fund / Insurance

KTC ผนึกพันธมิตร รับมือภัยไซเบอร์ สกมช. ยัน“บัตรเครดิต เคทีซี ดิจิทัล”ยกระดับความปลอดภัยขั้นกว่า


04 กรกฎาคม 2567
เคทีซีจับมือสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เปิดเวทีเสวนา เตือนภัยไซเบอร์รูปแบบใหม่ “อนาคตภัยไซเบอร์ กับอนาคตการป้องปราบ”  ย้ำ“บัตรเครดิต  เคทีซี ดิจิทัล” (KTC Digital Credit Card) ยกระดับความปลอดภัยขั้นกว่า ป้องกันการทุจริตประเภท card not present หรือ Data Compromise

KTC ผนึกพันธมิตร copy.jpg

นายไรวินทร์  วรวงษ์สถิตย์  ผู้บริหารสูงสุด สายงานควบคุมงานปฏิบัติการและปฏิบัติการร้านค้า “เคทีซี” หรือ บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) เผยว่า บริษัทได้ร่วมมือกับองค์กรหน่วยงานต่างๆ จัดเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้อย่างต่อเนื่อง โดยในครั้งนี้ได้ร่วมกับสกมช. เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และอัพเดทภัยไซเบอร์รูปแบบใหม่ๆ ให้กับคนไทย นอกเหนือจากการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบัตรเคทีซีครอบคลุมทั้งระบบ

“ปัจจุบันแนวโน้มการทุจริตจากธุรกรรมที่ไม่ใช้บัตร (card not present) หรือใช้โปรแกรมสุ่มเลขบัตรไปทำธุรกรรมการเงิน (Bin Attack) และการที่ข้อมูลรั่วไหล (Data Compromise) ยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เคทีซีจึงได้ออกผลิตภัณฑ์ “บัตรเครดิต  เคทีซี ดิจิทัล” (KTC Digital Credit Card) เพื่อยกระดับความปลอดภัยขั้นกว่าในการใช้บัตรเครดิตให้กับสมาชิกเคทีซี ซึ่งเป็นการป้องกันการทุจริตประเภท card not present หรือ Data Compromise”

ซึ่งภัยไซเบอร์เป็นภัยใกล้ตัวและลุกลามเข้าถึงกลุ่มเปราะบางมากขึ้น โดยใช้ความหวาดกลัวในการล่อลวง การเตรียมตัวและการป้องกันภัยด้านไซเบอร์ในวันนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนทุกกลุ่มต้องเรียนรู้อย่างเท่าทัน เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อตนเองและคนรอบข้าง โดยรูปแบบของภัยไซเบอร์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในปัจจุบันคือ Social Engineering รูปแบบต่างๆ  และ Remote Control ซึ่งปัจจุบันสามารถเข้าถึงระบบไอโอเอส (iOS) ได้เช่นเดียวกับแอนดรอยด์ (Android)  และแนวโน้มในการหลอกโอนเงินมีความเสียหายที่สูงกว่าเคส Remote Control โดยมิจฉาชีพจะมุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้สูงอายุ

สำหรับเทคนิค Social Engineering ที่พบมากที่สุดในปัจจุบันคือ
1) Phishing คือการส่งอีเมลปลอมเพื่อหลอกให้ผู้รับกดลิงค์ ใช้เทคนิคหลอกลวงเหยื่อเพื่อขอข้อมูลส่วนตัว 
2) Vishing คือหนึ่งในเทคนิคการโจมตีทางไซเบอร์ที่ใช้เสียงในการสื่อสาร เพื่อหลอกลวงผู้ใช้ให้ข้อมูลส่วนตัว หรือข้อมูลบัญชีที่สำคัญ 
3) Smishing คือการใช้ข้อความที่ถูกส่งผ่าน SMS (Short Message Service) เพื่อหลอกลวงเหยื่อให้ข้อมูลส่วนตัว หรือคลิกลิงก์ที่อาจสร้างความเสี่ยงด้านความปลอดภัย

นายนพรัตน์ สุริยา ผู้บริหารสูงสุด ฝ่ายป้องกันทุจริตบัตรเครดิตและร้านค้า “เคทีซี” กล่าวว่า  ปัจจุบันภัยไซเบอร์ที่เกิดจากการรีโมท คอนโทรล (Remote Control) ที่มิจฉาชีพหลอกให้กดลิงค์ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน เริ่มมีแนวโน้มลดลง แต่การถูกแก๊งค์คอลเซ็นต์เตอร์หลอกให้โอนเงินโดยตรง กลับมีแนวโน้มที่สูงขึ้นและความเสียหายก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะมุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้สูงอายุซึ่งเปราะบางและถูกหลอกได้ง่าย 

พลอากาศตรี จเด็ด  คูหะก้องกิจ  ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัย      ไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กล่าวว่า สถานการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่อาจสร้างความเสียหายให้กับประเทศ โดยแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ได้แก่ หน่วยงานของรัฐ รวมถึงหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ และกลุ่มที่ 2 ได้แก่ คนไทยที่มีการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศในชีวิตประจำวัน

โดยในกลุ่มที่ 1 พบว่าพ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา มีการโจมตีทางไซเบอร์ต่อข้อมูลและระบบสารสนเทศของหน่วยงานของรัฐ รวมถึงหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,808 เหตุการณ์ โดยอันดับ 1 ได้แก่ การแฮ็คเข้าเว็บไซต์ (Hacked Websites) คิดเป็น 59 เปอร์เซ็นต์ อันดับ 2 ได้แก่ เว็บไซต์ปลอม (Fake Websites) คิดเป็น 17 เปอร์เซ็นต์ และอันดับ 3 ได้แก่ การหลอกลวงการเงิน (Finance-related gambling) คิดเป็น 6 เปอร์เซ็นต์

กลุ่มที่ 2 พบว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มิจฉาชีพมีการปรับเปลี่ยนวิธีการหลอกลวงคนไทยอย่างต่อเนี่อง โดย สกมช. ได้มีการติดตามกลุ่มมิจฉาชีพที่มีการใช้โซเชียล มีเดีย เป็นสื่อกลางในการหลอกลวงคนไทย

“สุดท้ายนี้อยากฝากถึงคนไทยทุกคนในการป้องกันตนเองจากมิจฉาชีพและภัยไซเบอร์ ด้วยหลัก 3 ไม่ คือ ไม่เชื่อ ไม่ทำ        ไม่โดน โดยเฉพาะในส่วนแรกคือ ต้องไม่เชื่อใครง่ายๆ ทั้งนี้ หากตกเป็นเหยื่อแล้ว ขอให้รีบติดต่อธนาคารเพื่ออายัดเงินเป็นลำดับแรก ก่อนจะติดต่อไปที่ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center : AOC) หรือ ศูนย์ AOC สายด่วน 1441 รวมทั้งหากพบการหลอกลวงออนไลน์ดังที่กล่าวมาแล้ว สามารถติดต่อ สกมช. ผ่านช่องทางต่างๆ ในเว็บไซต์ ncsa.or.th เพื่อร่วมกันจัดการกับมิจฉาชีพต่อไป”
KTC