Fund / Insurance

CIMBT คงจีดีพีไทยปีนี้โต 2.3% มองQ3ศก.ไทยเผชิญ 4 ปัจจัยเสี่ยงGERM


09 กรกฎาคม 2567
สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยคงคาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้โต 2.3% ส่วนไตรมาส3 ห่วงเศรษฐกิจเผชิญ 4 ปัจจัยเสียง GERM  มองกนง.ลดดอกเบี้ยปีนี้ 1 ครั้งเดือนธ.ค.  ส่วนเงินบาทคาดปลายปีนี้อ่อนค่าแตะ 37.00 บาท/ดอลล์ จากเศรฐกิจสหรัฐและสงครามการค้า 

Fund Insurance CCIMBT คงจีดีพีไทยปีนี้โต 2.3_.jpg

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย  ระบุเศรษฐกิจไทยไตรมาสสาม น่าจะเติบโตได้ที่ 3%  โดยมี 4 ปัจจัยเสี่ยงหลัก เรียกย่อๆ ว่า GERM ได้แก่ 

G – Geo-politics – ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังป่วนโลก  กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน ต้นทุนขนส่งสินค้าทางเรือจะสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบที่เป็นต้นทุนสำคัญในภาคการผลิตและขนส่ง ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่เคยคาดการณ์ 82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอาจขึ้นไปทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้หากสถานการณ์เลวร้าย

E – Elections – การเลือกตั้งในหลายประเทศที่อาจเปลี่ยนขั้วการเมือง

R- Interest Rate - อัตราดอกเบี้ยทรงตัวในระดับสูงและลากยาว แม้เราคาดว่าเฟดจะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยช่วงกันยายนและธันวาคม จากระดับ 5.50% สู่ระดับ 5.00% ในปลายปีนี้

M – Manufacturing – ภาคการผลิตอาจหดตัวต่อเนื่อง แต่หากไทยไม่สามารถยับยั้งการเร่งระบายสินค้าจากจีน SMEs ไทยจะกระทบหนักถึงขั้นปิดโรงงาน


ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งหลังของปี 2567 เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวชัดเจนขึ้น มีปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน การลงทุน และการส่งออก ขณะที่อุปสงค์ภายในจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เศรษฐกิจอาจเผชิญกับความเสี่ยงด้านลบจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจลดความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภค แต่เป็นปัจจัยชั่วคราว ขณะที่ความเสี่ยงหลักจะมาจาก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การเลือกตั้งในหลายประเทศที่อาจเปลี่ยนขั้วการเมือง อัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับสูงลากยาว และภาคการผลิตที่อาจหดตัวต่อเนื่อง 

ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะขยายตัวได้  2.3%  ส่วนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในระยะสั้นมาอยู่ที่ 2.5%

ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.50% ในการประชุมวันที่ 12 มิถุนายน เพื่อรักษาระดับการกู้ยืมของครัวเรือนเนื่องจากกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาวจากหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ธปท. ส่งเสริมให้ครัวเรือนจัดการหนี้อย่างรับผิดชอบและพิจารณาโครงการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับผู้ที่ประสบปัญหาทางการเงิน ส่วนเงินเฟ้อยังอยู่ภายใต้กรอบที่ธปท.สามารถควบคุมได้ ขณะที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปตามคาดการณ์ของธปท. ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการลดดอกเบี้ยเพื่อเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม คาดว่าการประชุมเดือนธันวาคมจะมีการลดดอกเบี้ยลง 0.25% ไปสู่ระดับที่ 2.25% เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2568 และให้สอดคล้องกับระดับศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าเงินบาทจะแข็งค่าจาก 36.7 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน ไปที่ 36.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือนกันยายน โดยเงินบาทมีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในไตรมาสที่ 3 ตามการคาดการณ์ว่าจะมีการลดดอกเบี้ยของสหรัฐในเดือนกันยายน ซึ่งจะช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องของตลาดการเงินและช่วยให้เงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย อย่างไรก็ตาม คาดว่าเงินบาทปลายปีนี้จะอ่อนค่าลงไปที่ 37.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นในเศรษฐกิจสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ