ประเดิมต้น Q3/67 บจ.แห่ขายบ.ย่อย BANPU-ANAN-SUPER-ALPHAX ตุนเงินสดเพียบ!เพิ่มสภาพคล่อง ลุยต่อยอดธุรกิจ
จากการสำรวจข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า เริ่มต้นเดือนกรกฎาคม 2567 ซึ่งเป็นเดือนแรกของไตรมาส3/2567 จะพบว่า บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่และเล็ก ได้มีการทำรายการจำหน่ายหุ้นของบริษัทย่อยอย่างคึกคัก และได้รับเงินสดก้อนโต ซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน และส่วนใหญ่จะนำเงินดังกล่าวไปลงทุนในการขยายธุรกิจต่อไป
สำหรับบริษัทฯที่มีการทำรายการประกอบด้วย บริษัท บ้านปู จํากัด (มหาชน) หรือ BANPU รายงานขายหุ้นบริษัทย่อย โดยได้รับเงินสดมูลค่า 4,834 ล้านบาท บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN รับเงินสดมูลค่า 2,540 ล้านบาท
บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SUPER) รับเงินสดมูลค่า 4,859 ล้านบาท บริษัท อัลฟ่า ดิวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ALPHAX รับเงินสดมูลค่า 778.79 ล้านบาท
ขณะที่รายละเอียดการทำรายการแต่ละบริษัทมีดังนี้ บริษัท บ้านปู จํากัด (มหาชน) หรือ BANPU แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า บริษัทได้เสร็จสิ้นการจําหน่ายหุ้นในบริษัท BKV Chaffee Corners, LLC (Chaffee) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ BKV Corporation (BKV) และการจําหน่ายสินทรัพย์ ที่ BKV ไม่ได้เป็นผู้ดําเนินการผลิตใน Chelsea, LLC (Chelsea) โดย BKV เป็นบริษัทย่อยที่บ้านปูถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 96.38
โดย วันที่ 14 มิถุนายน 2567 BKV ได้จําหน่ายหุ้นในบริษัท Chaffee ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ BKV ไม่ได้เป็นผู้ดําเนินการผลิต โดยมีปริมาณสํารองก๊าซธรรมชาติ 1P จํานวน 122 พันล้านลูกบาศก์ฟุต (ปริมาณสํารองตามวิธี NYMEX ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566) ครอบคลุมพื้นที่ 9,793 เอเคอร์ และมีหลุมก๊าซธรรมชาติจํานวน 116 หลุม (หรือเทียบเท่า 24 หลุมตามสัดส่วนความเป็นเจ้าของ) ในบริเวณรัฐเพนซิลเวเนียตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ NEPA โดยราคาขายตามสัญญาอยู่ที่ 105.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และราคาที่จําหน่ายจริงมีมูลค่า 106.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (เทียบเท่าประมาณ 3,917 ล้านบาท)
วันที่ 28 มิถุนายน 2567 BKV ได้จําหน่ายสินทรัพย์ที่เป็นแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติ ซึ่ง BKV ไม่ได้เป็นผู้ดําเนินการผลิตใน Chelsea โดยมีปริมาณสํารองก๊าซธรรมชาติ 1P จํานวน 35 พันล้านลูกบาศก์ฟุต (ปริมาณสํารองตามวิธี NYMEX ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566) ครอบคลุมพื้นที่ 6,770 เอเคอร์ และมีหลุมก๊าซธรรมชาติจํานวน 214 หลุม (หรือเทียบเท่า 15 หลุมตามสัดส่วนความเป็นเจ้าของ) โดยตั้งอยู่ในบริเวณ NEPA เช่นกัน มีราคาขายตามสัญญาและราคาที่จําหน่ายจริง 25.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (เทียบเท่าประมาณ 917 ล้านบาท)
ทั้งนี้ ภายหลังการจําหน่ายดังกล่าว BKV ยังคงมีพื้นที่การดําเนินธุรกิจก๊าซธรรมชาติใน NEPA ครอบคลุมประมาณ 19,800 เอเคอร์
บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN ระบุว่า บริษัทฯได้มีการจำหน่ายเงินลงทุนในกิจการเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ของบริษัทย่อยจำนวน 5 บริษัท ได้แก่ บริษัท เอเอ็มเอช รัชดา จำกัด บริษัท เอเอ็มเอช สุขุมวิท 8 จำกัด บริษัท เอเอ็มเอช สุขุมวิท 59 จำกัด บริษัท เอเอ็มเอช สาธร จำกัด และ บริษัท เอเอ็มเอช พัทยา จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 51% ของทุนจดทะเบียนแต่ละบริษัท ให้แก่ บริษัท มิตซุย ฟุโดซัง เอเชีย ดีเวลลอปเมนท์ (ไทยแลนด์) จำกัด (MFADT) คิดเป็นมูลค่า 2,540 ล้านบาท ถือเป็นหนึ่งในแผนการลงทุนของบริษัท ทั้งนี้ ยังคงมีการลงทุนในธุรกิจเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์อย่างต่อเนื่อง
บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SUPER) แจ้งว่า เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 บริษัทฯ ได้รับเงินจากการจำหน่ายหุ้นสามัญของทานตะวัน โซล่าร์” (SUNFLOWER) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ มูลค่ารวมไม่เกิน 4,859 ล้านบาท จากบริษัท เลวันตา รีนิวเอเบิลส์ (ประเทศไทย) (LEVANTA) ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ มีความแข็งแกร่ง และมีเงินใช้ในการขยายธุรกิจในอนาคต
ทั้งนี้ หลังได้รับเงินจากการจำหน่ายหุ้น บริษัทฯ เตรียมนำไปใช้ชำระคืนเงินกู้ยืม เพื่อลดภาระดอกเบี้ย ส่งผลให้หนี้สินต่อทุน (D/E) ลดลง สภาพคล่องทางการเงินดีขึ้น และเป็นเม็ดเงินรองรับการลงทุนในโครงการต่างๆ รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าที่ได้รับคัดเลือกจาก คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ระหว่างปี 2569–2572 รวมถึงนำไปใช้ลงทุนในโครงการ Direct PPA และเป็นเงินทุนหมุนเวียน
บริษัท อัลฟ่า ดิวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ALPHAX เปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท มีมติอนุมัติให้บริษัทฯ จำหน่ายหุ้นสามัญและสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินกู้ยืมพร้อมดอกเบี้ยค้างจ่ายตามงบการเงินรวมของบริษัท วี พร็อพเพอร์ตี้ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (VPROP) ให้กับบุคคลที่ไม่เกี่ยวโยงกัน และลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้น และ/หรือเอกสารทีเกี่ยวข้องเพื่อจำหน่ายหุ้นสามัญ VPROPจำนวน 244,926,500 หุ้น คิดเป็น 99.97% ของทุนชำระแล้วของ VPROP และสิทธิเรียกร้องในฐานะเจ้าหนี้ในหนี้เงินกู้ยืมพร้อมดอกเบี้ยค้างจ่ายตามงบการเงินรวมของ VPROP และบริษัทย่อย ที่มีอยู่ต่อบริษัทฯ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 จำนวนทั้งสิ้น 478,799,502 บาท ให้กับนายชาตรี เดชะวลีกุล (ผู้ถือหุ้นลำดับที่ 13 จำนวน 87.7 ล้านหุ้น หรือ 0.964%) ซึ่งไม่ใช่บุคคลที่เกี่ยวโยงกันของบริษัท ในราคา 778,799,502 บาท