จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : รัฐเดินหน้ากระตุ้นตลาดพลังงานสีเขียว หนุน SUPER ปรับโครงสร้างรับ Direct PPA


11 กรกฎาคม 2567

รัฐบาลสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสีเขียว  ล่าสุดไฟเขียวการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct PPA) ไม่เกิน 2,000 เมกะวัตต์  สนับสนุนการลงทุนของ บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) 

รายงานพิเศษ รัฐเดินหน้ากระตุ้นตลาดพลังงา.jpg

นายประเสริฐ  สินสุขประเสริฐ  ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบแนวทางการดำเนินการโครงการนำร่องการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 

ในรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct Power Purchase Agreement: Direct PPA) ผ่านการขอใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access: TPA) ให้แก่บริษัทชั้นนำของโลกที่รัฐบาลได้เชิญชวนไว้ และสนใจเข้ามาลงทุน  โดยเฉพาะในด้าน Data Center ที่มีความต้องใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามข้อกำหนดจากบริษัทแม่

โดยเห็นชอบกรอบการดำเนินการในปริมาณไม่เกิน 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ต้องมีลักษณะเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ มีการดำเนินการที่เท่าเทียมกันในทุกประเทศที่ไปลงทุน และไม่มีการขายไฟฟ้ากลับเข้าสู่ระบบไฟฟ้าของประเทศ

ทั้งนี้ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ศึกษาผลกระทบจากการดำเนินการโครงการนำร่อง Direct PPA ผ่านการขอใช้บริการ TPA ต่อสถานภาพของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง และผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งภาคประชาชน และภาคอุตสาหกรรม พร้อมทั้งมอบหมายให้ กกพ. จัดทำอัตราค่าบริการ TPA ให้เสร็จภายในปี 2567

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะให้บริษัทข้ามชาติตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย จากที่ก่อนหน้านี้มีบริษัทชั้นนำของโลก อาทิ Google ให้ความสนใจลงทุนด้านดาต้าเซ็นเตอร์ แต่ยังรอความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งนายกฯ ได้ให้แนวทางว่า หากทำเป็นการทั่วไปไม่ได้ ควรมีการทำในลักษณะเป็น sandbox เป็นโปรเจคท์ไป

แนวทางการอนุมัติรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct Power Purchase Agreement: Direct PPA) ไม่เกิน 2,000  เมกะวัตต์ นับเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าที่จะขายไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นได้ตามกลไกตลาด

ซึ่ง บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) ก็ได้เตรียมความพร้อมรองรับเช่นกัน  โดย“จอมทรัพย์  โลจายะ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SUPER) ระบุ เมื่อต้นเดือนก.ค.67  ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้รับเงินจากการจำหน่ายหุ้นสามัญของทานตะวัน โซล่าร์" (SUNFLOWER) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ มูลค่ารวมไม่เกิน 4,859 ล้านบาท จากบริษัท เลวันตา รีนิวเอเบิลส์ (ประเทศไทย) (LEVANTA) ทำให้บริษัทฯ มีความแข็งแกร่ง และมีเงินใช้ในการขยายธุรกิจในอนาคต

ทั้งนี้ หลังได้รับเงินจากการจำหน่ายหุ้น บริษัทฯ เตรียมนำไปใช้ชำระคืนเงินกู้ยืม เพื่อลดภาระดอกเบี้ย ส่งผลให้หนี้สินต่อทุน (D/E) ลดลง สภาพคล่องทางการเงินดีขึ้น และเป็นเม็ดเงินรองรับการลงทุนในโครงการต่างๆ รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าที่ได้รับคัดเลือกจาก คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ระหว่างปี 25692572  รวมถึงนำไปใช้ลงทุนในโครงการ Direct PPA และเป็นเงินทุนหมุนเวียน

"เชื่อว่าเม็ดเงินที่ได้ครั้งนี้ จะทำให้บริษัทฯ มีฐานทุนที่แข็งแกร่ง และเป็นโอกาสในการรับงานในอนาคต ขยายโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่ม  " นายจอมทรัพย์กล่าว

นายจอมทรัพย์ กล่าวอีกว่า บริษัทฯ มีความพร้อมในการขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียนทุกรูปแบบทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งเข้าประมูลขายไฟฟ้าในส่วนของพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 3,600 - 5,000 เมกะวัตต์ ของภาครัฐ โดยตั้งเป้าได้งานไม่น้อยกว่า 10% ของกำลังการผลิตทั้งหมด 

ทั้งนี้บริษัทฯ วางเป้ารายได้เพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2567 ตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตสร้างสถิติสูงสุดใหม่จากปี 2566 มีรายได้รวม 10,130.71 ล้านบาท

ปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังการผลิตตามปริมาณเสนอขายตาม PPA ที่ 2,369.79  เมกะวัตต์ COD ไปแล้ว 1,626.11 เมกะวัตต์ เตรียม COD อีก 30 เมกะวัตต์ในปีนี้