Wealth Sharing

เงินบาทแข็ง หนุนหุ้นไทยบวกอีก 20-40 จุด ลุ้น SET Index ทะยานแตะ 1,360 จุด


12 กรกฎาคม 2567

ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง โดยนักวิเคราะห์ประเมินว่า มีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง แถมในอดีตพบว่าการแข็งค่าของค่าเงินบาท 3% จะส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นราว 20 จุด และ ตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นได้ดีในทุกอุตสาหกรรม

    WS (เว็บ) เงินบาทแข็ง.jpg

นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าจากบริเวณ 37 บาท/ดอลลาร์ ลงมาทบริเวณ 36.4 บาท/ดอลลาร์  โดยได้รับแรงหนุนหลักจากค่าเงินดอลลาร์ที่มีแนวโน้มอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง จากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่อ่อนแอ ส่งผลให้ตลาดประเมิน Fed มีแนวโน้มลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ 

ประกอบกับมูลค่านโยบาย Digital Wallet ที่ลดลง และการกำหนดไม่ให้สามารถซื้อสินค้านำเข้าได้ ช่วยลดความกังวลต่อการอ่อนค่าของค่าเงินบาทลง ขณะที่ทางเทคนิคค่าเงินบาทแข็งค่าหลุดเส้นค่าเฉลี่ย EMA50 วัน และทะลุ Uptrend โดย Line ลงมา ส่งผลให้แนวโน้มของค่าเงินบาทเป็น Sideway to Sideway Down (แข็งค่า)

ทั้งนี้อ้างอิงข้อมูลในอดีตย้อนหลัง 10 ปี แม้ว่า Correlation ระหว่าง ค่าเงินบาทกับ SET Index จะอยู่ที่ระดับต่ำเพียง -0.2 แต่พิจารณาช่วงปี 2557-2562 (ก่อนเกิดการแพร่ระบาด Covid19 ) จะพบว่าค่า Correlation เพิ่มสูงขึ้นเป็น -0.6 ซึ่งสามารถตีความได้ว่าเมื่อค่าเงินบาทแข็งค่า หากตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวขึ้น 

โดยรวบรวมข้อมูลในอดีตย้อนหลัง 10 ปี ในรอบที่ค่าเงินบาทแข็งค่ามากกว่า 2% มีทั้งหมด 20 ครั้ง เฉลี่ยค่าเงินบาทแข็งค่า ราว 4.9% และ SET INDEX ปรับตัวขึ้นเฉลยราว 7.2% ด้วยระดับความน่าจะเป็นที่สูงถึง 85% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นทุกอุตสาหกรรม โดยการแข็งค่าของค่าเงินบาททุกๆ 3% จะส่งผลต่อดัชนีราว 20 จุด 

จึงประเมินว่ามีโอกาสสูงที่ตลาดหุ้นไทยจะถึงรอบฟื้นตัวราว 20-40 จุด หรือบริเวณ 1,340-1,360 จุด แต่ต้องติดตามค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง 

สำหรับอุตสาหกรรมที่ปรับตัวขึ้นเด่น ได้แก่ ขนส่ง (เฉลี่ย +9.2%, ความน่าจะเป็น 90%), ICT (เฉลี่ย +9.3%, ความน่าจะเป็น 90%), ธนาคาร (เฉลี่ย +9.1%, ความน่าจะเป็น 85%), อสังหาฯ (เฉลี่ย +8.7%, ความน่าจะเป็น 85%), และ ค้าปลีก (เฉลี่ย +7.5%,ความน่าจะเป็น 85%) 

ดังนั้นจึงได้รวบรวมข้อมูลของบริษัทฯใน Coverage ที่ได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทแข็งค่า ได้แก่

1. ค้าปลีกสินค้า Electronic ได้ประโยชน์จากต้นทุนการนำเข้าสินค้าในราคาที่ต่ำลง สงผลให้อัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้น โดยหุ้นที่ได้ประโยชน์ได้แก่ ADVICE, SYNEX และ COM7

2. โรงไฟฟ้า ได้ประโยชน์จากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า รวมถึงโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่มีหนี้สิน และดอกเบี้ยจ่ายเป็นสกุลเงินดอลลาร์ จึงได้ประโยชน์เมื่อค่าเงินบาทแข็งค่า ได้แก่ GULF, BGRIM และ GPSC

3.อื่นๆ PTTGC (มีหนี้สินเป็นสกุลเงินต่างประเทศ 45%), SCGP (ต้นทุนอ้างอิงราคาดอลลาร์สหรัฐฯ) และ SABINA (สัดส่วนนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศราว 60%)