จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : “เทคโนโลยีสารสนเทศ-บริการคราวด์” ปี 67 โตแรงหนุน SPREME ผลงานโดดเด่น


17 กรกฎาคม 2567
การ์ทเนอร์ อิงค์ คาดเทคโนโลยีสารสนเทศและการใช้บริการคราวด์ ในไทยเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 30.1% จากปี 2566  กระตุ้นผลงาน บมจ.สุพรีม ดิสทิบิวชั่น  (SPREME) ดันรายได้ปีนี้เติบโต 15% 

รายงานพิเศษ SPREME copy.jpg

การ์ทเนอร์ อิงค์ คาดการณ์ปี 2567 มูลค่าการใช้จ่ายบริการคลาวด์สาธารณะของผู้ใช้ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 20.4% คิดเป็นมูลค่า 675.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 561 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2566 เป็นผลมาจากการขับเคลื่อนการใช้ Generative AI (GenAI) และการปรับปรุงแอปพลิเคชันให้ทันสมัย

ส่วนประเทศไทย การ์ทเนอร์ประเมินมูลค่าการใช้จ่ายของบริการคลาวด์สาธารณะขององค์กรในปีนี้จะสูงกว่า 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 30.1% จากปี 2566 โดยกลุ่มบริการ Infrastructure-as-a-service (IaaS) เติบโตสูงสุด เพิ่มขึ้น 39.6% ตามมาด้วย Platform-as-a-service (PaaS) อยู่ที่ 26%

ซิด ณาก รองประธานฝ่ายวิจัยการ์ทเนอร์ คาดการณ์ว่าจะเห็นการเติบโตของการใช้จ่ายบริการคลาวด์สาธารณะอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งการใช้จ่ายส่วนใหญ่มาจาก GenAI เนื่องจากมีการสร้างโมเดลพื้นฐานเพื่อใช้งานทั่วไปอยู่ตลอดเวลา และการส่งมอบแอปพลิเคชันที่เปิดใช้งาน GenAI ที่ขยายตัวเพิ่มไปสู่วงกว้าง และการเติบโตที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องนี้ บริษัทจึงคาดว่าก่อนสิ้นทศวรรษนี้ยอดการใช้จ่ายผู้ใช้กับบริการคลาวด์สาธารณะจะสูงทะลุหนึ่งล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

และในปี 2567 คาดว่าบริการคลาวด์ทุกกลุ่มตลาดจะโตขึ้น โดยบริการ Infrastructure-As-A-Service (IaaS) จะโตสูงสุดที่ 25.6% ตามมาด้วยกลุ่มบริการ Platform-As-A-Service (PaaS) ที่ 20.6%

การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศ สนับสนุนผลงานของ บมจ.สุพรีม ดิสทิบิวชั่น  (SPREME) ผู้ประกอบธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร โดยเป็นผู้ออกแบบ ติดตั้ง และจัดจำหน่ายระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบเครือข่าย อย่างครบวงจร (System Integrator) พร้อมทั้งให้บริการซ่อมแซม บำรุงรักษาและการให้เช่าอุปกรณ์

ซึ่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “ภานุวัฒน์ ขันธโมลีกุล” เปิดเผยแผนและกลยุทธ์การดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังของปี 67  บริษัทฯ ยังคงให้ความสำคัญกับการให้บริการแบบ One Stop Service ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบวงจร โดยเน้นการรักษาฐานลูกค้าเดิม และมองหาโอกาสในการขยายฐานลูกค้าใหม่ ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรรายใหญ่ โดยเน้นการสร้าง Brand Awareness สินค้ามีคุณภาพ ราคาสามารถแข่งขันได้

"ในช่วงครึ่งปีหลังเราเตรียมเข้าร่วมประมูลงานโครงการภาครัฐมูลค่ากว่า 1.3 พันล้านบาท ซึ่งเป็นงานที่เรามีความเชี่ยวชาญและได้รับงานประมูลอย่างสม่ำเสมอตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ที่ผ่านมา และมีโอกาสได้งานมากกว่า 60-70% เพื่อเข้ามาเติม Backlog ที่มีอยู่ประมาณ 550 ล้านบาท มั่นใจว่าจะช่วยผลักดันรายได้ในปีนี้เติบโต 15% ตามเป้าหมาย"
          
นายภานุวัฒน์ กล่าวอีกว่า หลังการระดมทุนและเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้บริษัทมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น และมุ่งมั่นเป็นผู้นำธุรกิจ System Integrator ที่เติบโตอย่างมั่นคง มีความพร้อมเข้าร่วมประมูลโครงการเมกะโปรเจคมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท ที่คาดว่าจะเปิดประมูลในช่วงปลายปีนี้ อีกทั้งยังมีฐานะการเงินและกระแสเงินสดแข็งแกร่ง มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ประมาณ 0.96 เท่า ไม่มีหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ย

นอกจากนี้ยังพร้อมเดินหน้าลงทุนซื้อกิจการ (M&A) เพื่อต่อยอดธุรกิจเดิม เพิ่มศักยภาพการเติบโตในอนาคต โดยอยู่ระหว่างการเจรจา โดยเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ System Integrator ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก และยังรวมถึงธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่เป็นธุรกิจเมกะเทรนด์ รองรับแผนเข้ารุกตลาดประมูลงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และงานประมูลภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) ซึ่งจะช่วยผลักดันธุรกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคต