Talk of The Town

จับตา! SCB แจ้งงบไตรมาส 2 วันนี้ โบรกฯ บัวหลวง หั่นคำแนะนำ “ขาย” เฉือนคาดการณ์กำไรงวดปี 67-69


19 กรกฎาคม 2567
วันนี้ (19 ก.ค.67) หุ้นกลุ่มธนาคารมีกำหนดประกาศงบไตรมาส 2/67 แต่ที่น่าสนใจคือ ล่าสุด SCB นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ปรับคำแนะนำลงเป็น “ขาย” SCB จากหลากหลายปัจจัยรุมเร้าในปี 2567 และให้ราคาเป้าหมายพื้นฐาน 100.00 บาท

จับตา! SCB แจ้งงบไตรมาส copy_0.jpg


โดยมีการปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2567-2569 เนื่องจาก ฝ่ายวิจัยมีความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของคุณภาพสินทรัพย์ของ SCB ที่ลดลง โดยเฉพาะพอร์ตสินเชื่อรายย่อย ดังนั้น จึงไม่คาดหวังการเติบโตของกำไรสุทธิในปี 2567 ในกลุ่มธนาคาร โดยชอบ BBL, KTB และ TTB

ทั้งนี้ คาดหวังการฟื้นตัวของคุณภาพสินทรัพย์ลดลงในพอร์ตสินเชื่อรายย่อยของ SCB ในครึ่งหลังของปี 2567 จากผลกระทบของหนี้ครัวเรือนที่สูงและข้อกำหนดการชำระเงินขั้นต่ำรายเดือนที่สูงขึ้นสำหรับผู้ถือบัตรเครดิต สัดส่วน
สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ใหม่ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารต่อสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นจาก 0.42% ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2565 เป็น 0.79% ณ สิ้นเดือนมี.ค. 2567 

นอกจากนี้ สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ใหม่ของสินเชื่อรถยนต์ต่อสินเชื่อรถยนต์เพิ่มขึ้นจาก 1.54% ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 2565 เป็น 2.27% ณ สิ้นเดือนมี.ค. 2567 และสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสินเชื่อรายย่อยต่อสินเชื่อรายย่อยเพิ่มขึ้นจาก 2.3% ณ สิ้นเดือนมิ.ย.2565 เป็น 2.8% ณ สิ้นเดือนมี.ค. 2567

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2567 SCB ประกาศว่า บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (PPV ซึ่งเป็นบริษัทในเครือที่ SCB ถือหุ้นทั้งหมด) จะยุติการให้บริการทั้งหมดผ่านแอปพลิเคชัน Robinhood ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่าPPV รายงานผลขาดทุนสุทธิ 2.2 พันล้านบาทในปี 2566 

โดย ณ สิ้นปี 2566 PPV มีสินทรัพย์รวม 3.5 พันล้านบาท หนี้สินรวม 797 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้น 2.7 พันล้านบาท  SCB น่าจะบันทึกการด้อยค่าต่อ PPV ในปี2567 ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายครั้งเดียว PPV กำลังจะเลิกกิจการ 

ดังนั้นจึงไม่คาดว่าจะมีการบันทึกขาดทุนเพิ่มเติมที่มีนัยสำคัญในปี 2568 (และ SCB สามารถใช้การขาดทุนที่ค้างอยู่หักภาษีในอีกห้าปีข้างหน้า)

ทั้งนี้ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2567 ลง 8% มาอยู่ที่ 4.10 หมื่นล้านบาท ลดลง 6% จากปีก่อน เนื่องจากปรับเพิ่มอัตราการตั้งสำรองจาก 1.70% มาอยู่ที่ 1.80% นอกจากนี้ยังลดประมาณการรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยรวมลง 4% เนื่องจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการให้สินเชื่อและธุรกิจนายหน้าประกันภัยที่ลดลง การลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2567 ต่ำกว่าประมาณการตลาดปัจจุบัน 6% ดังนั้นจึงเห็นความเสี่ยงของการปรับลดประมาณการของตลาดในปีนี้

ขณะเดียวกันTRIS เพิ่งลดอันดับเครดิตของ EA จาก “BBB+” เป็น “BB+” (ระดับ junk) ดังนั้น EA จะประสบปัญหาในการออกหุ้นกู้ใหม่ หากธนาคารปฏิเสธที่จะให้สินเชื่อเพิ่มเติมแก่ EA กังวลว่า EA จะสามารถชำระคืนผู้ถือหุ้นกู้สองชุดรวมมูลค่า 5.5 พันล้านบาทเมื่อครบกำหนดในเดือนส.ค.และก.ย. 2567 ได้หรือไม่ 

ดังนั้น EA จึงเป็นความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้นสาหรับธนาคารที่ให้สินเชื่อแก่ EA (SCB เป็นเจ้าหนี้ของ EA) มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ให้แก่ EA จะถูกจัดประเภทใหม่จากขั้น 1 (ปกติ) เป็นขั้น 2 (สินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ) ในครึ่งหลังของปี 2567

อย่างไรก็ตามสินเชื่อรายย่อยมักจะฟื้นตัวช้าเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว โดยข้อมูลในอดีตของธนาคารใหญ่สี่แห่ง (BBL, KBANK, KTB และ SCB) สำหรับปี 2557-66 ระบุว่าสินเชื่อองค์กรมักจะฟื้นตัวเร็วกว่าสินเชื่อรายย่อยเมื่อเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว ในช่วงปี 2559-2560 การเติบโตของ GDP ไทยอยู่ที่ 3.4-4.2% (สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2557-66 ที่ 1.8%) 

และอัตราการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจรวมของธนาคารใหญ่สี่แห่งในช่วงปีดังกล่าวอยู่ที่ 5.8% สูงกว่าการเติบโตของสินเชื่อรายย่อยรวม 2.9% และเร็วกว่าอัตราการเติบโตของสินเชื่อ SME ที่เชื่องช้าเพียง 0.1% ในช่วงเดียวกัน 

ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว มองว่าธนาคารที่มีสัดส่วนสินเชื่อองค์กรสูงจะฟื้นตัวเร็วกว่าธนาคารที่เน้นสินเชื่อรายย่อยและ/หรือสินเชื่อ SME 

ด้าน นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) คาด SCB จะมีกำไรไตรมาส 2/67 ที่ 1.14 หมื่นล้านบาท ลดลง 3.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยลดลงและค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นแต่คาดว่าสินเชื่อที่เติบโตจะทำให้รายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นและทำให้กำไรเพิ่มขึ้น 1.3% จากไตรมาสก่อน แนะนำ "ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 122 บาท