เอสซีบี ไพรเวทแบงก์กิ้ง จัดสัมมนาเอ็กซ์คลูซีฟ SCB PRIVATE BANKING Investment Outlook 2024
ในปัจจุบันเทคโนโลยี AI เข้ามามีบทบาทสำคัญ และกลายเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตของคนยุคดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชีวิตประจำวัน การดำเนินธุรกิจ หรือแม้แต่เรื่องการลงทุน ในยุคที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว AI ไม่ได้เป็นเพียงนวัตกรรมที่สร้างความสะดวกสบาย แต่ยังเป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติของสังคม และเป็นอีกหนึ่งเทรนด์การลงทุนที่น่าจับตามอง เอสซีบี ไพรเวทแบงก์กิ้ง (SCB PRIVATE BANKING) เดินหน้ามอบประสบการณ์ใหม่แบบไร้ขีดจำกัดด้านการให้ความรู้เรื่องการลงทุนเพื่อบริหารความมั่งคั่งให้กับกลุ่มลูกค้าไพรเวทแบงก์กิ้งที่มีความมั่งคั่งระดับสูง (High-Net-Worth) ของเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เสริมแกร่งความรู้เรื่องการลงทุนกับสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ SCB PRIVATE BANKING Investment Outlook 2024 ภายใต้ธีม “NAVIGATING THE INVESTMENT WORLD WITH DIGITAL AI” โดยได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญแถวหน้าด้านการเงินการลงทุน เข้าร่วมวิเคราะห์เจาะลึกเทรนด์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง 2567 รวมถึงโอกาสและความท้าท้ายของตลาดในยุคที่ AI เข้ามามีอิทธิพลกับโลกของการลงทุน
โอกาสและความท้าท้ายของตลาดในยุคที่ AI เข้ามามีอิทธิพลกับโลกแห่งการลงทุน
นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Private Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวในงานสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ SCB PRIVATE BANKING Investment Outlook 2024 ซึ่งจัดขึ้นสำหรับกลุ่มลูกค้าไพรเวทแบงก์กิ้งที่มีความมั่งคั่งระดับสูง (High-Net-Worth) ของเมืองไทยว่า “บนถนนแห่งการลงทุนเราสามารถเรียนรู้จากประวัติศาสตร์เพื่อให้เราเข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคตได้ ยิ่งหันกลับไปมองได้ไกลเท่าไหร่ ยิ่งมองไปข้างหน้าได้ไกลเท่านั้น โดยเราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเทคโนโลยี AI เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราทุกคน ทั้งมิติของเศรษฐกิจที่ AI เป็นทั้งตัวขับเคลื่อนและปฏิรูปรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้มีการพัฒนาและล้ำหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะความสามารถในการวิเคราะห์และเข้าใจข้อมูลต่างๆ ที่มีความซับซ้อน เช่นเดียวกับโลกแห่งการลงทุนที่ AI มีส่วนช่วยในการนำเสนอโซลูชันด้านการลงทุนที่ดียิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ SCB PRIVATE BANKING เล็งเห็นถึงความสำคัญของเทรนด์ดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการจัดงานสัมมนา SCB PRIVATE BANKING Investment Outlook 2024 ภายใต้ธีม “NAVIGATING THE INVESTMENT WORLD WITH DIGITAL AI” เพื่อนำเสนอโซลูชันด้านการลงทุนที่เหมาะสมกับตลาดในช่วงครึ่งปีหลัง 2567 พร้อมช่วยให้ลูกค้าคนสำคัญสามารถลงทุนได้อย่างมั่นคงและประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน โดย SCB PRIVATE BANKING พร้อมเคียงข้างลูกค้าบนเส้นทางถนนแห่งการลงทุน ด้วยบริการระดับมืออาชีพเพื่อมอบประสบการณ์ด้านการลงทุนเฉพาะบุคคลแบบไร้ขีดจำกัด”
พลิกโฉมโลกการทำงาน และธุรกิจด้วยเทคโนโลยี AI
ดร.ชาลี อัศวธีระธรรม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Digital Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “ปัจจุบันความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI ได้ถูกพัฒนาขึ้นไปอย่างรวดเร็ว AI เข้ามามีส่วนในการปฏิรูปรูปแบบการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงช่วยให้มนุษย์มีความเป็นอยู่ที่สุขสบายมากขึ้น เปรียบเสมือนผู้ช่วยส่วนตัวยุคใหม่ ที่สามารถช่วยสร้างเนื้อหาใหม่ได้หลากหลายรูปแบบ เช่น ข้อความ รูป เสียง วีดีโอ ดนตรี และอื่นๆ อีกมากมาย ด้วยความสามารถทั้งหมดนี้ ทำให้ AI เป็นเทคโนโลยีที่มีความสำคัญในยุคปัจจุบันและสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังช่วยผลักดันธุรกิจให้เติบโตและก้าวไปข้างหน้าได้ แต่ในขณะเดียวกันเทคโนโลยี AI ก็ยังมีความท้าทายหรือสิ่งที่ต้องได้รับการควบคุมและแก้ไขอีกหลายอย่างที่เราควรใช้เวลาในการคิดวิเคราะห์และตามให้ทัน เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมธนาคาร โดยธนาคารไทยพาณิชย์ได้นำความก้าวหน้าของ Generative AI มาปรับปรุงและพัฒนากระบวนการทำงานภายในให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เชื่อมโยงบริการแบบไร้รอยต่อ อาทิ การนำ AI มาอนุมัติสินเชื่อรายย่อย 100% โดยจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าทราบผลอนุมัติภายในระยะที่รวดเร็วกว่าเดิมมาก ผ่านการใช้ AI & Machine Learning ในการประเมินความเสี่ยงลูกค้าจากข้อมูลเชิงลึก เพื่อช่วยกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมให้กับลูกค้า บริการ AI Advisory Chatbot แชตบอตให้ข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนบนช่องทาง SCB Connect หรือ บริการ My Alert แนะนำและแจ้งเตือนการลงทุนแบบเฉพาะบุคคล (Hyper-personalization) ผ่านทุกช่องทางการสื่อสารทั้ง SCB Connect, SCB EASY และ ที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การบริหารความมั่งคั่งของลูกค้ายุคดิจิทัล มุ่งขับเคลื่อนองค์กรสู่ดิจิทัลแบงก์เต็มรูปแบบภายใต้กลยุทธ์ Digital Bank with Human Touch”
เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเปราะบาง...ท่ามกลางความไม่แน่นอนสูงและภูมิทัศน์โลกกำลังเปลี่ยน
ขณะที่ ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมฉายภาพมุมมองของเศรษฐกิจโลกในปี 2567 มีแนวโน้มเติบโต 2.7% ดีกว่าเดิมที่ประเมินไว้ ส่วนปี 2568 จะเติบโตใกล้เคียงกัน แต่ทิศทางยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด โดย SCB EIC มองว่า ในปีนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวได้ดี แม้ความร้อนแรงจะลดลงบ้างในช่วงครึ่งปีหลัง รวมถึงจีนที่ปรับดีขึ้นจากภาคการผลิต การส่งออก และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อินเดียและอาเซียนขยายตัวดี ขณะที่ยูโรโซนและญี่ปุ่นเติบโตต่ำ ด้านเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะทยอยฟื้นตัวไม่สูงนักที่ 2.5% โดยมีแรงส่งจากภาคบริการตามการฟื้นตัวได้ดีของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จากการออกมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มเติม ทั้งมาตรการฟรีวีซ่าและ VOA รวมถึงการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน อีกทั้งการท่องเที่ยวในประเทศยังเติบโตดี จังหวัดเมืองรองมีแนวโน้มได้รับความสนใจมากขึ้นจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ แต่เศรษฐกิจไทยยังมีแรงกดดันจากการส่งออกสินค้าที่กลับมาเติบโตไม่สูง ภาคอุตสาหกรรมยังทยอยฟื้นตัวท่ามกลางแรงกดดันสินค้าจีนเข้ามาตีตลาดและความต้องการซื้อในประเทศเริ่มแผ่ว รวมถึงภาคครัวเรือนไทยที่เปราะบางมากขึ้น SCB EIC จึงมีมุมมองว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้งปลายปี 2567 เหลือ 2.25% และปรับลดอีกครั้งเหลือ 2% ในช่วงต้นปี 2568
เศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลัง 2567 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แนะกระจายพอร์ตการลงทุน
นายศรชัย สุเนต์ตา, CFA รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินเศรษฐกิจโลกปี 2567 ว่ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แต่การฟื้นตัวแต่ละประเทศแตกต่างกัน โดยมีประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ส่วนใหญ่เป็นผู้นำการเติบโต กลุ่มธุรกิจในสหรัฐฯ มีการลงทุนและปรับใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับลดลงต่อทำให้ธนาคารกลางหลักต่างๆ ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ส่วนประเด็นความไม่แน่นอนที่จะกระทบการลงทุนช่วงครึ่งหลังปี 2567 จนถึงปี 2568 ได้แก่ การเลือกตั้งในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นความไม่แน่นอนหลัก สำหรับการลงทุนโดยรวมบนสินทรัพย์ในต่างประเทศ ทั้งตราสารหนี้ และหุ้น ยังมีความน่าสนใจลงทุนมากกว่าในไทย ทั้งนี้ ผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ระดับปานกลางถึงสูง ควรจัดพอร์ตลงทุน โดยแบ่งเงินลงทุนเป็น 2 ส่วน คือ 1. พอร์ตลงทุนหลัก (Core Portfolio) ลงทุนระยะยาว 1 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนมากกว่า 50% ขึ้นไป ควรกระจายลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย และ 2. การลงทุนบนพอร์ตเสริม (Opportunistic Portfolio) ซึ่งเป็นการลงทุนในระยะสั้นที่น่าสนใจ ได้แก่ ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ตลาดหุ้นเวียดนาม ตลาดหุ้นยุโรป และตลาดหุ้นจีน H-Share”
InnovestX ชี้ผลตอบแทนของหุ้นที่เกี่ยวข้องกับ AI ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ด้าน นายสิทธิชัย ดวงรัตนฉายา นักกลยุทธ์อาวุโสตลาดหุ้นไทยและต่างประเทศ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด กล่าวว่า “ปัญญาประดิษฐ์มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะในส่วนของ Generative AI ที่ส่งผลกับภูมิทัศน์การลงทุนตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 จนถึงปัจจุบัน โดยพัฒนาการของ AI เป็นไปอย่างรวดเร็วและเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้วัฏจักรยอดขายของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ฟื้นตัว ทั้งนี้จากผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 พบว่าบริษัทใน S&P 500 มากกว่า 41% มีการระบุถึง AI ในผลประกอบการและแนวโน้มโดยหลายบริษัทมองว่าจะใช้ AI ในการลดต้นทุน โดยมากกว่า 15% ของบริษัทคาดการณ์ว่าจะลดต้นทุนได้มากกว่า 10% แม้ว่าปัจจุบันนี้การเปิดรับการใช้งานที่เกี่ยวกับ AI อยู่ที่ราว 5-10% ซึ่งยังน้อยกว่าค่าสถิติในการใช้งานเทคโนโลยีในอดีตที่ 30% ทำให้เรามองว่าการเติบโตของ AI ยังมีช่องว่างในการเติบโตในระดับสูง และโอกาสในการลงทุนในหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับ AI ยังมีแนวโน้มที่จะให้ผลตอบแทนได้ดีในปี 2567-2568 ทั้งนี้หากพิจารณาถึงห่วงโซ่อุปทานของ AI นั้นไม่สลับซ้อนเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่แต่มีบริษัทที่ได้ประโยชน์ไม่มากนัก โดยสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. บริษัทที่ทำเกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานของ AI ได้แก่ ASML, ARM Holding, TSMC, Nvidia จะได้ประโยชน์ 2. บริษัทที่นำ AI ไปใช้กับสินค้าและขายสินค้าและบริการให้ลูกค้า ได้แก่ Microsoft, Alphabet, Amazon, Snowflake, Palo Alto Network และ 3. บริษัทที่ประยุกต์ใช้ AI ให้เกิดประสิทธิผลกับบริษัท ซึ่งประเมินว่ากลุ่มนี้จะเห็นผลในปี 2568 และยังไม่ค่อยชัดเจน”
***การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน