Wealth Sharing

PTTEP กำไร 2.3 หมื่นลบ. จ่ายปันผลระหว่างกาล 4.50 บาท นำส่งเงินเข้ารัฐกว่า 3 หมื่นลบ.


31 กรกฎาคม 2567
ตัวแรกของกลุ่ม ปตท. ล่าสุด PTTEP อวดงบไตรมาส 2/67 กำไรสุทธิ 23,977 ล้านบาท เติบโต 13.96%รับยอดขายเพิ่มขึ้น 14% รับผลดี โครงการจี 1/61 ที่เพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติ บอร์ดใจป้ำเคาะจ่ายปันผลระหว่างกาล 4.50 บาทต่อหุ้น  ขึ้น XD 13 ส.ค. 2567

WS (เว็บ)_PTTEP กำไร 2.3 หมื่นลบ. copy_0.jpg

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 2/67 มีกำไรสุทธิ 23,977 ล้านบาท เติบโต 13.96% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปริมาณการขายเฉลี่ย 506,709 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้น 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยปัจจัยสนับสนุนหลักๆ มาจากโครงการจี 1/61 ที่เพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติในเดือนมิถุนายน 2566 และมีนาคม 2567 รวมทั้งราคาขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 3% เป็น 47.01 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เทียบไตรมาส 2/66 ที่ 45.72 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ) โดยหลักเนื่องจากราคาขายน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นตามราคาตลาด ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติลดลงเล็กน้อย

ทั้งนี้ส่งผลให้ครึ่งแรกของปี 2567 บริษัทมีกำไรสุทธิ 42,660 ล้านบาท เติบโต 5.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยอยู่ที่ 489,879 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นประมาณ 8% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2566 

ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มอัตราการผลิตปิโตรเลียมของโครงการ G1/61 สู่ระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่วนราคาขายผลิตภัณฑ์ปรับตัวลงเล็กน้อยจากราคาขายก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวลดลง 

จากผลการดำเนินการดังกล่าว คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติเสนอจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล สำหรับผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรก ปี 2567 ที่ 4.50 บาทต่อหุ้น โดยกำหนดวันให้วันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล(XD) คือ 13 ส.ค. 2567และจะจ่ายเงินปันผลในวันที่ 28 สิงหาคม 2567

ดังนั้นในรอบครึ่งปีแรกของปี 2567 บริษัทได้นำส่งรายได้ให้กับรัฐในรูปของภาษีเงินได้ ค่าภาคหลวง และส่วนแบ่งผลประโยชน์อื่น ๆ  จำนวนกว่า 30,170 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาชุมชน การศึกษา และการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น 

นอกจากนี้ ส่วนแบ่งของผลผลิตปิโตรเลียมจากโครงการ G1/61 และ G2/61 ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ยังเป็นรายได้อีกส่วนหนึ่งที่รัฐได้รับโดยตรงจากการผลิตปิโตรเลียม เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศอีกด้วย

นายมนตรี กล่าวอีกว่า ไตรมาส 3/67 คาดการณ์ปริมาณขายเฉลี่ยที่ประมาณ 484,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ต่อวัน และปี 2567 คาดที่ 501,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 โดยหลักจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณขายในประเทศไทย 

ได้แก่ ความสำเร็จในการเพิ่มกำลังการ ผลิตของโครงการจี 1/61 (เอราวัณ) สู่ระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 ซึ่งเร็วกว่าแผนงาน และโครงการ บี 8/32 ที่กลับมาดำเนินการผลิตได้ตามปกติได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 หลังจากหยุดผลิตชั่วคราวจากปัญหาเรือรับก๊าซธรรมชาติของผู้ดำเนินการ รวมถึงปริมาณขายตามสัดส่วนการร่วมทุนที่เพิ่มขึ้นของโครงการยาดานาหลังจากผู้ร่วมทุนยุติการลงทุน