หนึ่งในปัจจัยกระตุ้นตลาดหุ้นไทยช่วงปลายปีอย่างกองทุนประหยัดภาษี ที่ในปีนี้ภาครัฐและเหล่าองค์กรในตลาดทุนไทยได้แก้เกมใหม่ของกองทุนหุ้นไทยยั่งยืน (ThaiESG) ด้วยการเพิ่มวงเงินลดหย่อนสูงสุดเป็น 3 แสนบาท และลดระยะเวลาถือครองเหลือเพียง 5 ปี
ดังนั้น ในวันนี้ทางเราจึงได้ทำการสำรวจและรวบรวมข้อมูลจากนักวิเคราะห์ที่น่าสนใจ พร้อมกับคัดเลือก 5 อันดับหุ้นที่ราคาปรับตัวลงมาแรงจากต้นปีถึงปัจจุบันและมีอัพไซด์ที่เปิดกว้าง เพื่อมานำเสนอให้แก่นักลงทุนที่มองหาโอกาสลงทุนในหุ้นรายตัว
โดยนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ให้มุมมองว่าก่อนหน้านี้ในช่วงต้นเดือนมีกระแสข่าวว่าเตรียมนำกองทุน TESG เข้าครม. ในช่วงกลางสัปดาห์ จึงทำให้เห็นเม็ดเงินซื้อสุทธิหุ้นไทยของสถาบันกว่า 4.6 พันล้านบาท(ช่วง1 -10 ก.ค.67) แต่หลังจากนั้นกระแสข่าวที่หายไปจึงทำให้สถาบันขายสุทธิหุ้นไทยจนยอดสุทธิอยู่ที่ 556 ล้านบาท (จากต้นเดือนถึงปัจจุบัน)
แต่อย่างไรก็ตาม คลังชงกองทุน TESG เข้าครม. จึงเป็นไปได้ว่าเม็ดเงินจากฝั่งสถาบันจะกลับมาซื้อสุทธิ SET และหนุนดัชนีปรับตัวขึ้นช่วงสั้นได้ ซึ่งเม็ดเงินที่คาดหวังจากกองทุน THAIESG ใหม่ ที่ไหลกลับเข้ามาหนุนตลาดหุ้นราว 4 –5 หมื่นล้านบาท ตามการเปรียบเทียบด้านเม็ดเงินที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้กับกองทุน LTF เดิม โดยเม็ดเงินที่หนุน SET ทุกๆ 1 หมื่นล้านบาท มักหนุนให้ SET ขยับขึ้นได้ 1% –2%
สำหรับกลยุทธ์ลงทุน คัดกรองหุ้นใน SETESG ที่มี ESG RATINGS อยู่ในระดับสูงสุด “AAA” และยังมี CGREPORT อยู่ในระดับ "ดีเลิศ" หรือ 5 คะแนน น่าจะเป็นหุ้นเป้าหมายอันดับต้น ที่เม็ดเงินของนักลงทุนสถาบันฯ และเม็ดเงินจาก THAIESG FUND ใหม่จะไหลเข้า ได้ผลลัพธ์ 29 บริษัท ซึ่งหุ้นในกลุ่มดังกล่าวที่น่าสนใจ อาทิ ADVANC, CPALL, KBANK, SCC, CRC, PTTGC, TISCO, BGRIM, CKP, STA, AMATA และ THCOM เป็นต้น
ทั้งนี้จากการสำรวจข้อมูลความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นทั้ง 29 ตัว พบว่า 5 หุ้นที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดและมีอัพไซด์สูง เริ่มกันที่ตัวแรกบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ให้คำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 55 บาท
โดยในระยะสั้นราคาหุ้นอาจมีแรงกดดันจากแนวโน้มกำไรไตรมาส 2/67 ที่ชะลอตัวและผลของ synergy ยังไม่ชัดเจน ขณะที่ทิศทางราคาน้ำมันดิบอ่อนตัวเร็วส่งให้ตลาดกังวลต่อผลขาดทุนสต๊อกที่อาจเข้ามาฉุดไตรมาส 3/67 จึงแนะนำให้ทยอยสะสม BCP รับการฟื้นของ core operation ในไตรมาส 3/67-4/67 และกำไร 2568- 2569 ที่อยู่ในระดับสูงกว่าก่อนโควิท
ต่อมาเป็น บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด ให้คำแนะนำ “OUTPERFORM” ราคาเป้าหมาย 23 บาท แต่ความเสี่ยงด้านกฎหมายที่ยังคงอยู่ จากการแทรกแซงราคาพลังงานในประเทศของภาครัฐอาจส่งผลทําให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลง
โดยประเด็นนี้จะทําให้นักลงทุนมีมุมมองเชิงลบต่อ OR มากขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะสั้น แต่ว่ากําไรจากการดําเนินงานจะยังคงมีโมเมนตัมเป็นบวกในปี 2567 โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 13,271 ล้านบาท หรือจะเติบโตจากปีก่อนหน้าราว 16%
ถัดมา บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ให้คำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 30 บาท จากราคาหุ้นที่อยู่ในโซนต่ำและสะท้อนความผิดหวังจากการคงค่า Ft ไปแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นบวกจากแนวโน้มกำไรครึ่งปีหลังปี 67 ที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกัน ตาม COD โครงการใหม่ ,การมองหาโครงการใหม่โดยเฉพาะพลังงานทดแทนต่อเนื่อง และภาครัฐจะต้องปรับขึ้นค่า Ft ในต้นปีหน้าเพื่อลดภาระทางการเงินของกฟผ. และที่สำคัญคือมีแรงซื้อจากต่างชาติที่โดดเด่น โดย % ถือครองหุ้นของต่างชาติเพิ่มขึ้น 1.2% ในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา
ต่อมาที่ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด แนะนำ “เก็งกำไร” ราคาเป้าหมาย 6.60 บาท โดยราคาหุ้นที่ซื้อขายปัจจุบันดาวน์ไซด์จำกัด ซึ่งคาดว่าหลังผ่านช่วงโลว์ซีซั่นในไตรมาส 2/67-3/67 และการ Restocking ก่อนเข้าสู่ฤดูหนาวในไตรมาส 4/67 จะเป็นจังหวะการฟื้นตัวของราคาหุ้น
สุดท้ายบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ให้คำแนะนำ “เก็งกำไร” ราคาเป้าหมาย 33 บาท โดยในเชิงกลยุทธ์มองว่ายังไม่ต้องรีบเข้าลงทุนเนื่องจากผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังปี 67 ยังอยู่ในช่วงท้าทาย, มีความเสี่ยงบันทึกด้อยค่าสินทรัพย์, อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลปี 2567 –2568 ยังไม่จูงใจเฉลี่ยราว 2% และตลาดยังมีโอกาสปรับลดประมาณการปีนี้ลง