สถานการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรอบครึ่งปีแรกของปี 2567 (มกราคม – มิถุนายน)
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรอบครึ่งปีแรกของปี 2567 เฉลี่ยเดือนมกราคม – มิถุนายน อยู่ที่ 156.68 ล้านลิตร/วัน ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 0.05 โดยน้ำมันเตามีการใช้ลดลงร้อยละ 19.7 NGV ลดลงร้อยละ 16.8 และน้ำมันกลุ่มเบนซินลดลงร้อยละ 0.9 ขณะที่การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.0 LPG เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ณ สถานีบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0
การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เดือนมกราคม – มิถุนายน 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 31.67 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกัน
ของปีก่อนร้อยละ 0.9 โดยการใช้แก๊สโซฮอล์ อี85 ลดลงมาอยู่ที่ 0.07 ล้านลิตร/วัน เบนซิน ลดลงมาอยู่ที่ 0.42 ล้านลิตร/วัน
แก๊สโซฮอล์ อี20 ลดลงมาอยู่ที่ 5.50 ล้านลิตร/วัน และแก๊สโซฮอล์ 95 ลดลงมาอยู่ที่ 17.60 ล้านลิตร/วัน ขณะที่ปริมาณการใช้
แก๊สโซฮอล์ 91 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.76 ล้านลิตร/วัน ปริมาณการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินที่ลดลงอาจเนื่องมาจากปัจจัยด้านฤดูกาลการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเปิดใช้รถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองซึ่งเชื่อมโยงกับสายอื่น ๆ ส่งผลให้ปริมาณการใช้มีการปรับตัวลดลง
การใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ณ สถานีบริการ เดือนมกราคม – มิถุนายน 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 68.61 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.0 โดยน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดามีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ร้อยละ 3.0 มาอยู่ที่ 68.46 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 2.5 มาอยู่ที่ 0.15 ล้านลิตร/วัน
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 33 บาท/ลิตร จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2567
ผ่านการบริหารเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เดือนมกราคม – มิถุนายน 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 15.74 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 17.0 โดยมีปัจจัยมาจากการฟื้นตัวในภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจจากปีก่อน ประกอบกับนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยวของรัฐบาล เช่น นโยบายฟรีวีซ่า การเพิ่มเที่ยวบินพิเศษในช่วงเทศกาล
การลดหย่อนภาษีสำหรับพื้นที่ท่องเที่ยวเมืองรอง อีกทั้งคณะรัฐมนตรีมีมติปรับมาตรการอนุญาตให้ชาวต่างชาติจาก 93 ประเทศ
เดินทางเข้าราชอาณาจักรได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า (สามารถพำนักในประเทศไทยไม่เกิน 60 วัน) เพื่อเป็นไปตามเป้าหมายที่มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยว โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป คาดว่ามาตรการนี้จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น
การใช้ LPG เดือนมกราคม – มิถุนายน 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 18.35 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ร้อยละ 3.7 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของภาคปิโตรเคมี ร้อยละ 8.7 มาอยู่ที่ 8.38 ล้านกก./วัน ภาคขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 มาอยู่ที่ 2.32 ล้านกก./วัน โดยปริมาณการใช้ LPG มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากการดำเนินงานของภาคปิโตรเคมี ในขณะที่การใช้ในภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 3.3 มาอยู่ที่ 1.96 ล้านกก./วัน และภาคครัวเรือนลดลงร้อยละ 0.3 มาอยู่ที่ 5.70 ล้านกก./วัน
การใช้ NGV เดือนมกราคม – มิถุนายน 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.90 ล้านกก./วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของ
ปีก่อนร้อยละ 16.8 ทั้งนี้ ปตท. มีมติเห็นชอบแผนช่วยเหลือราคา NGV ในระยะ 2 ปี โดยปัจจุบันดำเนินการอยู่ในระยะที่ 2 (1 กรกฎาคม 2567 – 31 ธันวาคม 2568) ซึ่งเป็นการตรึงราคาให้กับกลุ่มรถแท็กซี่และรถโดยสารสาธารณะที่ถือบัตรสิทธิประโยชน์ฯ โดยสิทธิประโยชน์จะแตกต่างไปตามประเภทของรถ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มรถโดยสาร สำหรับกลุ่มผู้ใช้รถทั่วไป ราคาจะเป็นไปตามกลไกตลาด หลังจากถูกตรึงมาเป็นระยะเวลา 6 เดือน (ตั้งแต่ มกราคม ถึง มิถุนายน 2567)
การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เดือนมกราคม – มิถุนายน 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,045,345 บาร์เรล/วัน ลดลง
จากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.3 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 99,470 ล้านบาท/เดือน โดยเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบ
อยู่ที่ 982,242 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 0.9 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 94,683 ล้านบาท/เดือน สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) อยู่ที่ 63,102 บาร์เรล/วัน
ลดลงร้อยละ 19.5 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 4,787 ล้านบาท/เดือน
การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เดือนมกราคม – มิถุนายน 2567 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล
น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยมีปริมาณส่งออกอยู่ที่ 162,741 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 16,832 ล้านบาท/เดือน