Talk of The Town

อึ้ง! BTS แบกหนี้บาน 2 แสนล้าน ดันส่วนหนี้สินต่อทุนสุทธิพุ่ง 2.6 เท่า โบรกฯ ชี้ไม่น่ากังวล แต่หั่นเป้าเหลือ 5.5 บาท


02 สิงหาคม 2567
ข้อมูลงบการเงินของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS พบว่า มีหนี้สินรวม 2 แสนล้านบาท โดยมีหนี้สินหมุนเวียน 5.1 หมื่นล้านบาท และหนี้สินไม่หมุนเวียน 1.5 แสนล้านบาท

อึ้ง! BTS แบกหนี้บาน 2 แสนล้าน copy_0.jpg

หลักๆ จะแบ่งเป็น เงินกู้ยืมระยะสั้น 1.5 หมื่นล้านบาท หนี้สินระยะยาวส่วนที่ถึงกำหนดชำระภายในหนึ่งปี 1.5 หมื่นล้านบาท และหนี้สินระยะยาว -ส่วนที่ถึงกำหนดชำระเกินกว่าหนึ่งปี 1.4 แสนล้านบาท เป็นต้น

นักวิเคราะห์บริษัท หลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) มองว่า ความเสี่ยงด้านเครดิตยังคงจำกัด แม้ว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสุทธิจะอยู่ที่ 2.6 เท่า ณ สิ้นปีงบการเงิน 2567 , หนี้สินอยู่ที่ 2.06 แสนล้านบาท และมีหุ้นกู้ 1.3 หมื่นล้านบาท, 9 พันล้านบาท และ 8 พันล้านบาท ที่ครบกำหนดชำระในปี 68-70

แต่ฝ่ายวิจัยไม่คาดว่า BTS จะประสบปัญหาทางการเงินใดๆ เนื่องจาก 1. มีเงินสดและเงินลงทุนหมุนเวียน 1.9 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 67 2. มีเงินอุดหนุนจาก รฟม. ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพู 4.8 พันล้านบาทต่อปีในอีก 10 ปีข้างหน้า 

และ 3.การชำระหนี้คืนจาก กทม. 2.3 หมื่นล้านบาท สำหรับระบบไฟฟ้าและเครื่องกลส่วนต่อขยายสายสีเขียว นอกจากนี้ คาดว่า BTS จะได้รับเงินชำระหนี้จาก กทม. 3.9 หมื่นล้านบาทสำหรับงานเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายสายสีเขียว หลังจากศาลมีคำตัดสินให้ BTS เป็นฝ่ายชนะคดี 

อย่างไรก็ตาม การขาดทุนจากการดำเนินงานของรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพูที่สูงกว่าคาด ทำให้ต้องปรับกำไรของ BTS ลงเป็นขาดทุน 281 ล้านบาท ในปี 68 (จากกำไร 2.4 พันล้านบาท) (สิ้นงวดบัญชีเดือนมี.ค.) และปรับกำไรลง 75-90% เหลือ 278 ล้านบาท ในปี 69 และ 692 ล้านบาท ในปี 70

โดยราคาเป้าหมายจึงลดลงเหลือ 5.5 บาท (จาก 8.8 บาท) อย่างไรก็ตาม คงคำแนะนำ “ซื้อ” จาก 1.เชื่อว่าราคาหุ้นที่ร่วงลง 43% จากจุดสูงสุดในปีนี้ได้สะท้อนข่าวร้ายไปหมดแล้ว 2.คาดว่ากำไรจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว และจะค่อยๆ ฟื้นตัวตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป และ 3.คาดว่าความกังวลของตลาดต่อความเสี่ยงด้านเครดิตของ BTS จะผ่อนคลายลง หลังจากที่บริษัทฯ ได้รับเงินชำระหนี้คืนจากรัฐบาล 6.2 หมื่นล้านบาท

BTS มีผลขาดทุนปกติจำนวนมากที่ 2 พันล้านบาทปี 67 เนื่องมาจาก 1) ผลขาดทุนจากการดำเนินการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพู ส่งผลให้กำไรจากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงที่ลดลง 2) การขาดทุนต่อเนื่องของ VGI (VGI “ขาย”) ซึ่งบริษัทถือหุ้นอยู่ 60% จากการฟื้นตัวที่ช้าของธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้านและธุรกิจอื่นๆ 

และ 3) ส่วนแบ่งขาดทุน 2 พันลบ. ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการด้อยค่าการลงทุนใน KEX (KEX “ขาย”) และSINGER (Not-rated) แม้คาดว่ารถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพูจะยังคงขาดทุนต่อเนื่อง แต่คาดว่าส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมจะกลับมาเป็นบวก 1 พันล้านบาท, 1.2 พันล้านบาท และ1.3 พันล้านบาทในปี 68-70 เนื่องจากไม่มีผลขาดทุนจากการด้อยค่าเพิ่มเติม ส่งผลให้ขาดทุนลดลงเหลือ 281 ล้านบาทในปี 68 ก่อนที่จะกลับมามีกำไร 278 ล้านบาทในปี 69 และ 692 ล้านบาท ในปี 70

สำหรับการดำเนินงานรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพูในงวดไตรมมาส 4/67 ซึ่งมีผู้โดยสารเพียง 40,224 และ 51,618 เที่ยวต่อวัน (เทียบกับจุดคุ้มทุนที่ 150,000 เที่ยวต่อวัน) ตามลำดับ ทำให้ขาดทุนรวมประมาณ 400 ล้านบาท ในงวดดังกล่าว 

โดยปัจจุบันคาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปที่ 35,000/41,000/47,000 เที่ยวต่อวันในปี 68-70สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และ 52,000/61,000/71,000 เที่ยวต่อวัน สำหรับรถไฟฟ้าสายสีชมพู ทำให้ทั้งสองสายยังคงขาดทุน 1.7 พันล้านบาท,1.6 พันล้านบาท และ 1.5 พันล้านบาท ในปี 68-70

BTS