Mr.Data
ในวิกฤติย่อมเป็นโอกาสสำหรับผู้กล้า…หากศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านก่อนพิจารณาตัดสินใจลงทุน พิจารณาปัจจัยพื้นฐาน แนวโน้มการเติบโต ยังมีหลายบริษัทฯที่เป็น “ทางเลือก” ในการลงทุน ท่ามกลางสภาวะตลาดหุ้นที่มีความผันผวน
ทั้งที่เกิดจากปัจจัยภายนอก จากสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัว ปัญหาความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน แนวโน้มดอกเบี้ยที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง แม้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มส่งสัญญาณผ่อนคลายทางการเงิน และมีความเป็นไปได้สูงในการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้า ซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือนกันยายน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความหวัง ฟันด์โฟลว์ไหลกลับเข้ามาลงทุนตลาดหุ้นไทย
แต่ถ้ามาดูปัจจัยภายในประเทศแล้ว สถานการณ์ยัง “คาบลูกคาบดอก” คดีนายกฯเศรษฐา และคดีพรรคก้าวไกล ที่จะมีการพิจารณาในเดือนสิงหาคมนี้ ยังคงเป็นตัวแปรสำคัญ หากออกมาในทิศทาง “เป็นลบ” ย่อมไม่ดีกับบรรยากาศการเมือง และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
ขณะที่ปัจจัยพื้นฐานตลาดหุ้นไทย ยังคง “เปราะบาง” ในเรื่องของความเชื่อมั่น จากปัญหาชอร์ตเซล ความได้เปรียบของ Robot Trade ทั้งในเรื่องขอบความเร็ว และค่าคอมมิชชั่นที่ถูกกว่านักลงทุนรายใหญ่ และนักลงทุนทั่วไป
ปัญหาผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนไทยที่ความสามารถทำกำไรลดลง จากต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น และจากเศรษฐกิจไทยที่โตช้า
และมรสุมลูกใหม่ EA Effect ที่ “ถาโถม” ตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นกู้ หลัง 2 ผู้บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ถูกกล่าวโทษกรณีทุจริตจัดซื้อจัดจ้างวงเงิน 3.46 พันล้านบาท
จนเป็นที่มาของการเลื่อนชำระหนี้หุ้นกู้วงเงิน 1.5 พันล้านบาท ที่จะครบดีลในวันที่ 15 สิงหาคม 2567 ออกไปอีก 10 เดือน 15 วัน เป็น 30 มิถุนายน 2568 โดยไม่ถือเป็นเหตุผิดนัด พร้อมกับเพิ่มดอกเบี้ยให้ 1.89% เป็น 5.00% ต่อปี ไม่มีการแฮร์คัทหนี้ โดยเตรียมขอมติผู้ถือหุ้นกู้ในวันที่ 9 สิงหาคมนี้
จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ (ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2567) พบว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯปิดที่ระดับ 1,322.75 จุด +1.89 จุด +0.14% มูลค่าการซื้อขายเบาบางเพียง 36,899.13 ล้านบาท
หากมองผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปี-1 ส.ค.2567 พบว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET) ลดลง 6.71% ส่วนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (mai) ปรับตัวลดลง 19.92%
ขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิต่อเนื่อง 1.18 แสนล้านบาท เทียบกับปี 2566 ทั้งปีขายสุทธิ 1.9 แสนล้านบาท นักลงทุนในประเทศ รับบท “เดอะแบก” ซื้อสุทธิ 1.18 แสนล้านบาท
สัปดาห์นี้ Mr.Data ถือโอกาสสแกนหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า ที่ราคายังอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับมูลค่าหุ้นทางบัญชีต่อหุ้น ซึ่งพบว่า มีถึง 14 บริษัททั้งที่จดทะเบียนใน SET และ mai เชื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจนำไปศึกษาต่อยอด ประกอบการตัดสินใจลงทุน เพราะใน “วิกฤติ” ย่อมมี ”โอกาส“ อยู่เสมอ เพียงแต่ต้องหาให้เจอเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาประกอบการตัดสินใจการลงทุนเท่านั้น เพราะยังมีอีกหลายปัจจัยต้องพิจารณาให้รอบด้าน
…ถามว่าหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าพอที่จะมีอัพไซด์ได้อีกมั๊ย
โอกาสยังมีอีกมาก จากร่างแผน PDP 2024 ได้มีการกำหนดกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ที่จะทยอยเข้ามาในช่วงปี 2567-2580 จำนวน 60,208 MW (เป็นกำลังผลิตใหม่ที่ไม่นับรวมกำลังผลิตที่มีข้อผูกพันแล้ว) แบ่งเป็น กำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียน 34,851 MW, กำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม 6,300MW, กำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนหรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) 600MW, การรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 3,500MW, กำลังผลิตไฟฟ้าจากแหล่งอื่นอีกราว 2,000MW และโรงไฟฟ้าที่มีระบบกักเก็บพลังงาน (ทั้งพลังงานน้ำรูปแบบสูบกลับและแบตเตอรี่) 12,957 MW
สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม 6,300MW ทาง กฟผ.จะมีการลงทุนเองจำนวน 5 โครงการ กำลังผลิต 3,500MW และอาจเปิดให้เอกชนประมูลโรงไฟฟ้าอีก 3 โครงการ ขนาดรวม 2,800 MW ขณะที่การลงทุนในส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำแบบสูบกลับ และ SMR 600 MW จะเป็นการลงทุนของ กฟผ.
ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจำนวน 34,851MW สามารถแบ่งออกเป็น โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 24,412 MW, โรงไฟฟ้าลม 5,345 MW, โรงไฟฟ้าชีวมวล 1,046 MW, โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ 936 MW, โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ 2,681 MW, โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม 12 MW, โรงไฟฟ้าขยะชุมชน 300 MW, โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดเล็ก 99 MW และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ 21 MW
โดยภายหลังการเปิดรับฟังความคิดเห็น คาดจะมีการเสนอเข้าที่ประชุมคณะอนุพีดีพี จากนั้นจะเสนอไปยังที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พิจารณาตามลาดับ โดยเบื้องต้นคาดแผนดังกล่าวจะมีการประกาศใช้ได้ภายในเดือน ก.ย. 2567
ขณะที่การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ส่วนขยายจำนวน 3,668.5 MW ทางภาครัฐคาดสามารถดำเนินโครงการได้ภายในปีนี้ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ร่างแผน PDP 2024 ผ่านการอนุมัติ
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นบวกต่อหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าในระยะยาว เนื่องจากการเพิ่มเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าที่จะเข้ามาในระบบจำนวนมาก ส่งผลให้โอกาสในการขยาย Portfolio ของหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าในประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมองว่าผู้ประกอบการรายหลักที่ได้รับประโยชน์จากปัจจัยดังกล่าวคือ GULF, GUNKUL, SSP