L&E แย้มครึ่งปีหลังฟื้นตัวทั้งในปท.-ตปท. ชูกลยุทธ์ผลิตสินค้าล็อตใหญ่ เจาะลูกค้าอาเซียน-ออสเตรเลีย
L&E ประเมินภาพรวมครึ่งปีหลังสดใสกว่าครึ่งปีแรก จากสถานการณ์ในประเทศและต่างประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ปรับประมาณการณ์ยอดขายทั้งปีโต 5% ล่าสุดมองเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ จากการที่ L&E มีประสบการณ์กับพันธมิตร ชูกลยุทธ์นำความรู้ในการผลิตสินค้าจำนวนมาก (Manufacturing Focus Product) เจาะกลุ่มลูกค้าในตลาดอาเซียน และออสเตรเลีย คาดการส่งออกใน Q3-Q4 ปีนี้ แจ้งงบ Q2/67 มีรายได้จากการขายและให้บริการ 578 ล้านบาท ลดลง 58 ล้านบาท หรือลดลง 9% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากงานโครงการเลื่อนการส่งมอบงาน โดยจะรับรู้รายได้ไปเป็นไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ปีนี้ และความล่าช้าจากการอนุมัติงบประมาณของภาครัฐ ส่งผลให้บริษัทขาดทุนสำหรับงวด 16.1 ล้านบาท แต่ปรับตัวดีขึ้น 10% จากงวดเดียวกันของปีก่อน
นายอนันต์ กิตติวิทยากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไลท์ติ้ง แอนด์ อีควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ L&E ผู้นำธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายโคมไฟฟ้า รวมทั้งอุปกรณ์แสงสว่างรายใหญ่ของประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจครึ่งปีแรกของ 2567 คาดการณ์รายได้จะทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 2566 สาเหตุหลักๆ มาจากตลาดในประเทศ งานโครงการใหญ่ งานภาครัฐ งานขายส่ง/ขายปลีก ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ไม่เติบโตก้าวกระโดดตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี ครึ่งปีหลังคาดการณ์น่าจะปรับตัวดีขึ้นหลังจากงานโครงการและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ รวมทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณฯ มีผลบังคับใช้
โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้ประเมินภาพรวมธุรกิจของ L&E ในปีนี้ จากที่เคยคาดการณ์ว่ารายได้จะเติบโต 10% จากปีก่อน ยอมรับว่าครึ่งปีแรกที่ผ่านมามีแรงกดดันจากสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย ส่งผลกระทบต่อลูกค้าของบริษัท จึงคาดการณ์ L&E ในปีนี้อาจเติบโตอยู่ที่ราว 5% เมื่อเทียบกับปีก่อน
อย่างไรก็ดี L&E ยังมีความหวังต่อการเติบโต จากแนวโน้มออเดอร์ที่ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาเริ่มเห็นสัญญาณบวก หลังจากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ จับมือพาร์ทเนอร์จากต่างประเทศที่เชี่ยวชาญในการผลิตสินค้าครั้งละจำนวนมากส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา แต่เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาไม่ดีจึงกระทบต่อคำสั่งซื้อ แต่ปัจจุบัน แนวโน้มออเดอร์เริ่มกลับมาแล้ว โดย L&E นำเอาประสบการณ์ที่เคยทำงานร่วมกับพันธมิตร มาพัฒนาและต่อยอดเป็นองค์ความรู้ในองค์กร ทำให้ปัจจุบัน บริษัทฯ สามารถผลิตสินค้าล็อตใหญ่ได้มีประสิทธิภาพ (Manufacturing Focus Product) เป็นกลุ่มสินค้าที่ L&E กำหนดให้โรงงานของบริษัทในเครือเน้นผลิตเป็นพิเศษเพื่อให้เป็นสินค้าที่แข่งขันได้ดีทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งเป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการสูง และบริษัทฯ มีศักยภาพในการผลิต ซึ่งจะส่งผลดีต่อการบริหารจัดการและโครงสร้างราคาที่มีเสถียรภาพในระยะยาว
“ในช่วงที่ออเดอร์สหรัฐปรับลดลง L&E มองเห็นโอกาสในการเติบโต จากช่วง 3 ปีที่ผ่านมา L&E ได้เรียนรู้และมีการปรับปรุงเครื่องจักรต่างๆ รวมถึงการหาซัพพลายเชน ผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน ภายใต้ราคาที่แข่งขันได้ เพื่อขยายไปยังลูกค้ารีเทลรายใหญ่เพิ่มเติม และการผลิตสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ ซึ่งเราได้ลูกค้ากลุ่มนี้เข้ามาบ้างแล้ว นอกจากนี้ ยังมีลูกค้า Private Brand ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำงานโครงการ ปัจจุบัน L&E ได้เปิดตลาดไปเจาะกลุ่มลูกค้าในตลาดอาเซียน รวมทั้ง ออสเตรเลีย เวียดนาม และอินเดีย ด้วยจุดเด่นของ L&E สามารถสั่งซื้อสินค้าได้ครอบคลุมทั้ง Ecosystem มีอุปกรณ์ไฟครบชุด มุ่งสู่เป้าหมายการเติบโตแบบยั่งยืนด้วยสินค้าเราเอง” นายอนันต์ กล่าว
ทั้งนี้ คาดว่าการส่งออกในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปีนี้ จึงคาดผลงานครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวดีขึ้น เนื่องจากบริษัทได้ลูกค้าในอาเซียนเพิ่มขึ้น และกำลังเจาะตลาดลูกค้าในอินโดนีเซีย และเร็วๆ นี้ คาดว่าจะได้ลูกค้าในประเทศออสเตรเลียเพิ่ม แต่ยอมรับว่าแรงกดดันของอุตสาหกรรมแสงสว่าง มีการแข่งขันด้านราคาสูงมาก ซึ่งหากเราบริหารจัดการการผลิตและต้นทุนได้ดี มองว่า จะสนับสนุนให้ L&E เป็นหนึ่งในพาร์ทเนอร์รายสำคัญที่ได้รับการตอบรับจากลูกค้าทั่วโลก
“ภาพรวมธุรกิจครึ่งปีแรกคงยังทรงตัว ประเมินแนวโน้มครึ่งปีหลังมีทิศทางที่ดีเนื่องจากบริษัทมีงานใหม่ๆ เข้ามาและเชื่อว่าจะดีทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ จึงคาดว่าทั้งปีนี้ ยอดขายจะเติบโตได้ราว 5 % จากปีที่ผ่านมา” นายอนันต์ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผลประกอบการในงวดไตรมาส 2/2567 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและให้บริการ 578 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 58 ล้านบาท หรือลดลง 9% เป็นผลจากมีงาน โครงการอาคาร mixed use โครงการปรับปรุงสนามกีฬา และโครงการปรับปรุงห้างร้านหลายแห่งมูลค่ารวมกันประมาณ 120 ล้านบาท ต้องเลื่อนการส่งมอบงานและรับรู้รายได้ไปเป็นไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 รวมทั้งความล่าช้าจากการอนุมัติงบประมาณแผ่นดิน ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐประจำปี 2567 ต้องชะลอออกไป และได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทด้วย ส่งผลให้บริษัทมีขาดทุนสำหรับงวด 16.1 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนหน้าที่ขาดทุน 17.9 ล้านบาท ขาดทุนลดลง 1.8 ล้านบาท หรือปรับตัวดีขึ้น 10%
โดยกำไรขั้นต้นจากการขายรวมรายได้อื่นเพิ่มขึ้น 7.9 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4% แม้ยอดขายจะลดลง 9% ทั้งนี้เพราะอัตรากำไรขั้นต้นได้ปรับตัวดีขึ้นจาก 28.0% ในปี 2566 เป็น 32% ในปี 2567 เป็นผลจากบริษัทได้พัฒนากระบวนการผลิตจนสามารถลดต้นทุนการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในไตรมาสนี้บริษัทได้ขายสินค้าที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นด้วย
ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและให้บริการรวมดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้น 2.4 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1% สวนใหญ่เป็นผลจากดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้น เพราะอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ปรับตัวสูงขึ้นจาก 3.72% ในปี 2566 เป็น 4.84% ในปี 2567 และภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้น 3.7 ล้านบาท