จิปาถะ

ติดโซเชียล ติดแชท ติดจอ อาจป่วยเป็น 5 โรคนี้โดยไม่รู้ตัว!


20 สิงหาคม 2567
SDJ - ติดโซเชียล ติดแชท ติดจอ.jpg

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโซเชียลมีเดียมีบทบาทอย่างมากในชีวิตของเรา แต่สำหรับบางคน การใช้โซเชียลมีเดีย “มากเกินไป” ก็อาจกลายเป็นปัญหาได้ อาจทำให้เกิดภาวะเสพติดได้ (Social Addiction) ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ จนเกิดภาวะเครียด หรือเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า อีกหนึ่งในภัยเงียบที่หลายคนไม่รู้ตัว

อาจป่วยโดยไม่รู้ตัว! เมื่อติดโซเชียลมากเกินไป

1. โรคซึมเศร้าจาก Facebook คนรุ่นใหม่มักใช้ช่องทางนี้ในการระบายความรู้สึกตัวเองมากขึ้น เป็นโรคที่เกิดจากการใช้งานเฟซบุ๊ก สังคมหรือโลกในเฟซบุ๊ก เป็นพื้นที่ในการสร้างความเป็นจริงเทียม (Artificial Reality) ขึ้นมา จากการโพสต์หรือแชร์เรื่องดีๆ แต่เก็บเรื่องแย่ๆ เรื่องร้ายๆ ที่อยากปกปิดเอาไว้ในชีวิต เราจึงเห็นแต่คนที่มีชีวิตสมบูรณ์แบบเต็มไปหมด เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับตัวเอง จึงเกิดความรู้สึกไร้ค่า และเป็นต้นเหตุของโรคซึมเศร้าจากเฟซบุ๊ก หรือ Facebook Depression Syndrome

2. ละเมอแชท อาการติดแชทแม้ขณะหลับอยู่ จึงทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ มีสาเหตุมาจากการติดมือถือมากเกินไป ผู้ที่มีอาการเข้าข่ายเป็นโรคนี้จะไม่ปล่อยโทรศัพท์ไว้ห่างจากตัว จะมีอาการอยู่ในสภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น และถูกกระตุ้นการตอบสนองของสมองด้วยการลุกขึ้นมาตอบกลับข้อความทันทีหลังจากได้ยินเสียงแจ้งเตือน หรือเมื่อมีการสั่นเตือน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้นอนหลับไม่สนิท สะดุ้งตื่น พักผ่อนไม่เพียงพอ รวมถึงระบบการทำงานต่างๆ ของร่ายกาย รู้สึกเหนื่อยง่าย ไม่มีแรงในการทำกิจกรรมต่างๆ เกิดความเครียดสะสม และเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนอีกด้วย

3. โนโมโฟเบีย (Nomophobia) อาการกลัวไม่มีมือถือใช้ในการติดต่อสื่อสาร หรืออัปเดตข้อมูล ส่วนใหญ่มักพบผู้ป่วยโรคนี้ในกลุ่มวัยรุ่น สังเกตอาการว่าเราอาจเสี่ยงเป็นโรคนี้ คือ จะมีอาการหงุดหงิด กระวนกระวายใจ เมื่อหามือถือไม่เจอ หรือไม่มีสัญญาณ internet หมกมุ่นอยู่กับการใช้มือถือเป็นประจำ ทั้งก่อนนอนและตื่นนอน ตื่นตัวทุกครั้งเมื่อได้ยินเสียงเตือน และต้องมีมือถือติดตัวอยู่ตลอดเวลา

4. โรควุ้นในตาเสื่อม เห็นภาพเป็นคราบดำ ๆ คล้ายหยากไย่เมื่อมองไปยังแสงสว่าง ปัจจุบัน ภาวะวุ้นในตาเสื่อมไม่ได้เกิดกับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ยังพบว่าเกิดขึ้นกับวัยทำงาน และคนที่อายุน้อยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้หน้าจอที่มากเกินไป โรควุ้นในตาเสื่อมเป็นภาวะที่มองเห็นจุดเล็กๆ ลอยผ่านไปมา โดยจะมีรูปร่างและขนาดที่แตกต่างกันไป

5. สมาร์ทโฟนเฟซ (Smartphone Face) อาการก้มมองหน้าจอมากเกินไปจนทำให้ปวดเมื่อยที่คอ เกิดอาการเกร็งและไปเพิ่มแรงกดบริเวณแก้ม ผิวบริเวรลำคอหย่อนคล้อย เหี่ยวย่น ขณะเล่นมือถือ ควรให้อยู่ในระดับสายตา ไม่ควรก้มหน้ามากเกินไป และจำกัดเวลาในการเล่นมือถือให้น้อยลง

ที่มา : https://www.komchadluek.net/kom-lifestyle/general-knowledge/583426