รายงานพิเศษ : พลังงานทุ่มงบลงทุนสมาร์ทกริดกว่า 4 แสนลบ. หนุนผลงาน PCC แข็งแกร่ง
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงกิจกรรมการลงทุนตามร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (PDP 2024) ว่า กระทรวงพลังงานเน้นให้เกิดการเลือกใช้เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่สามารถรักษาระดับราคาค่าไฟฟ้าที่มีความเหมาะสมและมีเสถียรภาพในระยะยาว เนื่องจากค่าไฟฟ้าเป็นปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ
และแม้ว่าระดับค่าไฟฟ้าไม่ได้สูงขึ้น แต่ก็ไม่ได้ส่งผลให้กิจกรรมการลงทุนในภาคไฟฟ้าลดลงแต่อย่างใด เพราะมีการเพิ่มสัดส่วนการก่อสร้างระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีมูลค่าสูงกว่ากิจกรรมการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าฟอสซิล ซึ่งมีข้อสนับสนุนจากข้อมูลการวิเคราะห์การลงทุนจากหน่วยงานด้านพลังงานในต่างประเทศที่ชี้ให้เห็นว่าการลงทุนจากพลังงานหมุนเวียนจะทำให้เกิดเม็ดเงินลงทุนสูงกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล
เมื่อพิจารณาตามแผน PDP ฉบับใหม่ ยังคงมีกิจกรรมการลงทุนในภาคไฟฟ้าตามแผน PDP อย่างต่อเนื่อง จากการลงทุนของโรงไฟฟ้าที่มีข้อผูกพันไว้แล้วและที่จะเปิดรับเพิ่มเติมตามแผนในช่วงก่อนปี 2573 มากกว่า 650,000 ล้านบาท ประกอบด้วย
- พลังงานหมุนเวียนประมาณ 13,300 MW คิดเป็นมูลค่าลงทุนประมาณ 525,000 ล้านบาท
- โรงไฟฟ้าฟอสซิลประมาณ 5,300 MW คิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ 125,000 ล้านบาท
รวมทั้งการเข้ามาของพลังงานหมุนเวียนที่มากขึ้นจะนำไปสู่โครงสร้างระบบไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์และธุรกิจไฟฟ้ารูปแบบใหม่ที่จะต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้สามารถรองรับได้ ซึ่งก็จะมีอีกแผนคือแผนสมาร์ทกริดที่จะมารองรับการเปลี่ยนผ่านนี้ โดยมีแผนงานที่คิดเป็นเงินลงทุนทั้งแผนอีกประมาณกว่า 400,000 ล้านบาท
ทั้งนี้แผนดังกล่าวยังได้ตอบโจทย์เรื่องความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และลดก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นไปตามทิศทางของโลกที่สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด ตามที่ประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายการลดคาร์บอนในระหว่างการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) โดยมีเป้าหมายในการเป็นกลางทาง คาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608
อย่างไรก็ตาม แผน PDP 2024 ที่จะประกาศใช้จะกำหนดให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นและเร็วขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ โดยนอกจากสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นยังช่วยให้ค่าไฟฟ้าของไทยมีราคาคงที่ไม่ผันผวนตามราคาเชื้อเพลิงตลาดโลก
การพัฒนาโดยเน้นธุรกิจไฟฟ้ารูปแบบใหม่ สอดคล้องกับทิศทางธุรกิจ บมจ.พรีไซซ คอร์ปอเรชั่น (PCC) ผู้นำในธุรกิจเทคโนโลยีแพลตฟอร์มครอบคลุมอุตสาหกรรมสมาร์ทกริดของประเทศไทย โดย “กิตติ สัมฤทธิ์”ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ระบุว่า ปี 2567 นี้ บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้เติบโต 10% จากปีก่อนที่มีรายได้ 4.63 พันล้านบาท
เนื่องจากมองเห็นศักยภาพในการเติบโตจากอุตสาหกรรมไฟฟ้าระบบ Smart Grid หรือระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ที่นำเทคโนโลยีหลากหลายประเภทเข้ามาทำงานร่วมกัน ทำให้ระบบไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางกระทรวงพลังงานผลักดันผ่านแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย โดยบริษัทฯยังคงเดินหน้าเข้าประมูลงานใหม่อย่างเนื่อง เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
ขณะที่ผลประกอบการงวด 6 เดือนปี 2567 บริษัทฯมีรายได้รวมอยู่ที่ 2,757.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.06% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสัดส่วนโครงสร้างรายได้ แบ่งเป็น รายได้จากการขาย 49.9%รายได้จากการให้บริการและโครงการก่อสร้าง 49.6% และรายได้อื่นๆ 0.4%