รศ.ดร.เสรี บอกด้วยว่าฝนในช่วงเดือน ส.ค. นี้ยังไม่น่ากังวลเท่ากับฝนที่กำลังจะมาในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้าต่อจากนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกือบทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยประเมินว่าช่วงเดือน ก.ย. ภาคเหนือและภาคกลางจะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น จากนั้นร่องฝนจะไล่ลงสู่ทางใต้ตอนบนในช่วงเดือน ต.ค. เป็นต้นไป ตามมาด้วยภาคใต้ตอนล่างในช่วงเดือน พ.ย.
“โดยปกติของบ้านเราจะมีฝนตกหนักในช่วงเดือน ก.ย. อยู่แล้ว สำหรับภาคเหนือและภาคกลาง แต่ปัจจัยเสริมอีกอย่างในช่วงเดือน ก.ย. คือพายุจร หน่วยงานต่างประเทศคาดการณ์ว่าปีนี้จะมีพายุ 14-15 ลูก แต่ผมคิดว่าจะเข้าไทย 1-2 ลูกในช่วงเดือน ก.ย.นี้ ดังนั้นมันจึงเป็นเดือนที่ตัดสินว่า น้ำที่เข้ามาในช่วง ก.ย. จะเข้ากรุงเทพฯ ขนาดไหน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องประเมินต่อเนื่อง”
ขณะที่ สนทช. วิเคราะห์สถานการณ์ในลักษณะเดียวกัน โดยคาดการณ์ว่าปี 2567 จะมีพายุพัดผ่านเข้าประเทศไทยจำนวน 2 ลูก และมีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ในช่วงเดือน ก.ย. - ต.ค. จึงกำชับให้ทุกภาคส่วนอย่าประมาท
รศ.ดร.เสรี ยังบอกด้วยว่า ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับ “ระเบิดฝน (Rain Bomb)” ซึ่งมีลักษณะตกสั้น ๆ แต่ตกหนักในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งถี่มากขึ้นด้วย อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โดยล่าสุดเกิดที่ จ.ตราด และ จ.ภูเก็ต จนทำให้เกิดอุทกภัยและสร้างความเสียหายตามมา
“น้ำท่วมรอระบายจะกลายเป็นปัญหาของทุกเมืองหลังจากนี้ เมืองต่าง ๆ ควรออกแบบให้รองรับน้ำที่ตกลงมาในระยะเวลาจำกัด และระบายออกไปให้ได้ภายใน 1-2 วัน”
จากการประเมินของคณะทำงานคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ซึ่ง รศ.ดร.เสรี เป็นหนึ่งในคณะทำงานดังกล่าว ยังคาดการณ์ว่าใน 10 ปีข้างหน้านี้ ประเทศไทยจะเผชิญภัยแล้งมากขึ้น 6 เท่า และเกิดน้ำท่วมมากขึ้น 2 เท่า โดยในปี 2569, 2571-2572 ไทยจะเผชิญภัยแล้งรุนแรง และมีน้ำท่วมใหญ่ในปี 2573
“เมื่อประเมินสถานการณ์ หน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศยังใช้ฉากทัศน์เรื่อง Climate change เมื่อ 10 ปีที่แล้ว มันแสดงให้เห็นว่าเราตามเขาไม่ทัน ทั้งที่มันมีฉากทัศน์ใหม่ออกมาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ดังนั้น โจทย์ของรัฐบาลต่อจากนี้คือจะจัดการปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ที่เกิดขึ้นอย่างไร ซึ่งยังเป็นปัญหาของไทยอยู่” รศ.ดร. เสรี กล่าวกับบีบีซีไทย
ที่มา : https://www.bbc.com/thai