Wealth Sharing
5 กลยุทธ์เอาชนะ ช่วงตลาดหุ้นผันผวนด้วยกลยุทธ์รอบคอบ หลีกเลี่ยงการตัดสินใจบนพื้นฐานของอารมณ์
28 สิงหาคม 2567
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เผยแพร่บทความ 5 กลยุทธ์เอาชนะตลาดหุ้นผันผวน โดย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่าในภาวะเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน ตลาดหุ้นอาจมีความผันผวนที่รุนแรงและบ่อยครั้ง
จนสร้างความท้าทายอย่างมากสำหรับนักลงทุน และเมื่อเห็นมูลค่าของพอร์ตลงทุนลดลงอย่างรวดเร็วอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดและอาจส่งผลเสียต่อเป้าหมายในระยะยาว ดังนั้น จึงต้องรับมือกับความผันผวนด้วยการวางกลยุทธ์ลงทุนที่รอบคอบและยืดหยุ่น
1. อย่าตัดสินใจด้วยอารมณ์
การขายหุ้นออกด้วยความกลัวในช่วงที่ตลาดผันผวนหรือในช่วงที่ราคาตกต่ำ อาจเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด เช่น พลาดโอกาสในการซื้อคืนเมื่อราคาเริ่มฟื้นตัว สูญเสียโอกาสรับผลตอบแทนจากการลงทุน (อาทิ เงินปันผล) โดยข้อมูลจาก J.P. Morgan Asset Management ในรายงาน Guide to the Markets พบว่า นักลงทุนที่พลาดช่วงเวลาที่ตลาดให้ผลตอบแทนสูงสุดเพียง 10 วันในช่วง 20 ปี จะได้ผลตอบแทนน้อยกว่าการลงทุนต่อเนื่องถึง 50% แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อรับมือกับความไม่สบายใจในช่วงที่ตลาดผันผวน ควรมีกลยุทธ์ ดังนี้
- มีแผนการลงทุนระยะยาวที่ชัดเจนและยึดมั่นในแผนดังกล่าว
- กระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท
- มองความผันผวนเป็นโอกาสในการซื้อหุ้นที่ดี ในราคาที่ถูก
- ทบทวนพอร์ตลงทุนเป็นระยะ แต่หลีกเลี่ยงการดูราคาหุ้นบ่อยเกินไป
2. ลงทุนอย่างสม่ำเสมอเพื่อรับมือกับความผันผวนของตลาด
การลงทุนแบบสม่ำเสมอ (Dollar Cost Averaging : DCA) เป็นกลยุทธ์การลงทุนที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายสำหรับการลงทุนระยะยาว วิธีนี้เป็นการลงทุนด้วยเงินจำนวนเท่า ๆ กันเป็นประจำ (เช่น รายเดือน) โดยไม่คำนึงถึงราคาตลาด ณ ขณะนั้น ข้อดี คือ ช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของตลาดในระยะสั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อราคาตลาดปรับลดลงก็จะได้ซื้อหุ้นในราคาที่ถูกลง หรือซื้อกองทุนรวมโดยได้หน่วยลงทุนมากขึ้น ซึ่งในระยะยาวจะช่วยให้ต้นทุนเฉลี่ยอยู่ในระดับที่เหมาะสม นอกจากนี้ พบว่า DCA ยังช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลที่เกี่ยวกับการลงทุน เนื่องจากนักลงทุนไม่ต้องกังวลกับการจับจังหวะตลาด
3. ทบทวนและปรับแผนการลงทุนให้เหมาะสม
การทบทวนและปรับสมดุลของพอร์ตลงทุนเป็นกลยุทธ์สำคัญที่นักลงทุนใช้เพื่อรักษาประสิทธิภาพของการลงทุนในระยะยาว ซึ่งควรทำเป็นประจำ (อย่างน้อยปีละครั้งหรือทุก 6 เดือน) โดยตรวจสอบว่าสัดส่วนการลงทุนในแต่ละประเภทสินทรัพย์ยังคงเป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ หากพบว่าสัดส่วนเปลี่ยนแปลงไปมาก อาจต้องขายบางส่วนที่เพิ่มขึ้นและซื้อส่วนที่ลดลงเพื่อรักษาสมดุล
นอกจากนี้ การปรับสมดุลจะช่วยรักษาระดับความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนให้สอดคล้องกับเป้าหมายและความสามารถในการรับความเสี่ยง ที่สำคัญการทบทวนพอร์ตลงทุนยังเป็นโอกาสอันดีในการพิจารณาว่าเป้าหมายหรือสถานการณ์ของนักลงทุนเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ลงทุนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น หากปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้มีโอกาสบรรลุเป้าหมายทางการเงินในระยะยาวได้ดียิ่งขึ้น
4. การใช้สินทรัพย์ที่มีเสถียรภาพ
ในโลกของการลงทุนที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน การมีสินทรัพย์ที่มีเสถียรภาพในพอร์ตลงทุนถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ไม่ควรมองข้าม สินทรัพย์ประเภทนี้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล กองทุนรวมตลาดเงิน เป็นต้น ซึ่งสามารถสร้างสมดุลและความมั่นคงให้กับพอร์ตลงทุนโดยรวม
โดยหนึ่งในคุณสมบัติเด่นของสินทรัพย์เหล่านี้ คือ ความผันผวนต่ำ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ตลงทุน ในขณะที่ตลาดหุ้นอาจมีความผันผวนรุนแรง สินทรัพย์ที่มีเสถียรภาพมักให้ผลตอบแทนที่คาดการณ์ได้และค่อนข้างแน่นอน แม้ว่าผลตอบแทนอาจไม่สูงเท่ากับหุ้นในช่วงที่ตลาดเป็นขาขึ้น แต่ให้ความมั่นคงในช่วงที่ตลาดผันผวน
นอกจากนี้ สินทรัพย์ที่มีเสถียรภาพยังทำหน้าที่เป็นแหล่งเงินทุนสำรองที่มีประสิทธิภาพด้วย ในช่วงที่ตลาดผันผวนและราคาสินทรัพย์เสี่ยงสูงปรับลดลง นักลงทุนสามารถใช้เงินจากสินทรัพย์เหล่านี้เพื่อลงทุนในโอกาสใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ หมายความว่า การมีเงินพร้อมใช้ในสถานการณ์ผันผวนจะช่วยให้นักลงทุนสามารถใช้ประโยชน์จากการปรับตัวลงของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. เลือกลงทุนสินทรัพย์ที่สร้างรายได้
การลงทุนในสินทรัพย์ที่สร้างกระแสเงินสดสม่ำเสมอเป็นกลยุทธ์สำคัญสำหรับนักลงทุนระยะยาว โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดมีความผันผวน โดยหากพอร์ตลงทุนเน้นสินทรัพย์ที่สร้างรายได้ เช่น หุ้นปันผลสูงและพันธบัตรรัฐบาล จะสามารถลดความผันผวนได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับพอร์ตลงทุนที่เน้นการเติบโตเพียงอย่างเดียว
โดยรายได้ประจำจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่สร้างกระแสเงินสดสม่ำเสมอ ไม่เพียงช่วยชดเชยการลดลงของมูลค่าสินทรัพย์ในช่วงตลาดเป็นขาลง ยังเปิดโอกาสให้นักลงทุนนำเงินกลับมาลงทุนต่อในช่วงที่ราคาอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นการเพิ่มผลตอบแทนในระยะยาว ที่สำคัญการมีกระแสเงินสดจะช่วยให้รู้สึกมั่นคงและลดแรงกดดันที่จะต้องขายสินทรัพย์ในราคาต่ำเพื่อสร้างสภาพคล่องด้วย