จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : SSP เดินหน้าลงทุนโรงไฟฟ้าสีเขียว ทุ่มงบ 1.5 หมื่นลบ. สู่บริษัท Net Zero Emission


31 สิงหาคม 2567
กระแสการใช้พลังงานสะอาดในภาคอุตสาหกรรม กำลังเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนทั่วโลก  ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SSP) ที่ทุ่มงบกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท  ลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดทุกประเภท

รายงานพิเศษ SSP เดินหน้าลงทุนโรงไฟฟ้าสีเขีย.jpg
 
สร้างพลังงานสะอาดเพื่อโลกสีเขียว

นายวรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SSP) หนึ่งในผู้นำด้านพลังงานทดแทนแบบครบวงจร ได้ปรับแนวทางการประกอบกิจการให้สอดคล้องกับเมกะเทรนด์ของโลกที่เปลี่ยนไป โดยตั้งเป้าหมายเป็นบริษัท Net Zero Emission และขับเคลื่อนธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ภายใต้แนวคิดการมุ่งสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานสะอาด ด้วยเมกะวัตต์ที่มีคุณภาพ มุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อโลกสีเขียวที่ยั่งยืน พร้อมระดมเงินจากสถาบันการเงินที่ให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด (Green Financing Framework) สอดคล้องกับการขยายพอร์ตการลงทุนของบริษัทฯ ด้าน Renewable Energy
 
ทุ่ม 1.5 หมื่นลบ. ลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน

ปัจจุบัน บริษัทฯ มีโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนโครงการในประเทศไทย ประกอบไปด้วย โครงการ SPN ขนาดกำลังการผลิต 16.4 เมกะวัตต์ SNNP1 ขนาดกำลังการผลิต 0.384 เมกะวัตต์ SNNP2 ขนาดกำลังการผลิต 0.998 เมกะวัตต์ Do Home#1 ขนาดกำลังการผลิต 3 เมกะวัตต์ Solar WVO ขนาดกำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ SNNP3 ขนาด 0.3 เมกะวัตต์ และ โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาดกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ จังหวัดนครราชสีมา และได้เข้าซื้อหุ้นสามัญ บริษัท วินชัย จำกัด เพิ่มอีกจำนวน 7,425,000 หุ้น หรือคิดเป็น 75% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดของ บริษัท วินชัย จำกัด เป็นจำนวนทั้งสิ้น 2,128.9 ล้านบาท ทำให้ SSP ถือหุ้นรวมทั้งหมด 100%

โครงการในต่างประเทศประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Zouen ขนาดกำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Yamaga ขนาดกำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ และ โครงการ LEO 1 ขนาดกำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ ในประเทศญี่ปุ่น และประเทศมองโกเลีย มีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Khunshight Kundi ขนาดกำลังการผลิต 16.4 เมกะวัตต์ ส่วนประเทศเวียดนาม มีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Binh Nguyen ขนาดกำลังการผลิต 49.61 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม Tra Vinh ขนาดกำลังการผลิต 48 เมกะวัตต์

สำหรับความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ LEO 2 ในประเทศญี่ปุ่น ขนาดกำลังการผลิต 22 เมกะวัตต์ ได้เริ่มก่อสร้างไปแล้ว คาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินงานในไตรมาส 3 ปี 2568
 
ลงทุนโรงไฟฟ้าขยะ จ.สุราษฏร์ธานี

ล่าสุด SSP จับมือ บริษัท บาฟส์ คลีน เอนเนอร์ยี่ คอร์เปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท ลัคกี้ คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด จัดตั้งบริษัทร่วมทุน “ไบเซล เวสท์ เอ็นเนอร์ยี่” ลุยธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ จ.สุราษฎร์ธานี งบประมาณกว่า 2,200 ล้านบาท ด้วยปริมาณไฟฟ้าเสนอขาย PEA 8.9 เมกะวัตต์ ซึ่งการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะในครั้งนี้เป็นการเพิ่มการลงทุนโรงไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานชนิดใหม่ ที่จะช่วยเพิ่มความหลากหลาย สร้างรายได้และผลตอบแทนให้กับบริษัทฯ ควบคู่การลดขยะชุมชนพร้อมไปสู่มาตรฐานของโรงไฟฟ้าผ่านการประสานความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับชุมชน ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์การเติบโตของบริษัทฯ ในการสร้างความหลากหลายทางพลังงานทดแทนพร้อมกันกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
 
ขยายพอร์ตโรงไฟฟ้าในไต้หวัน

ขณะเดียวกัน SSP ได้เข้าลงทุนในโครงการโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่เมืองไถหนาน ประเทศไต้หวัน ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 17 เมกะวัตต์ ด้วยสัดส่วนถือหุ้น 100% มูลค่าการลงทุนจำนวนไม่เกิน 1,220 ล้านบาท ถือเป็นก้าวแรกในไต้หวัน และเป็นการลงทุนแห่งใหม่ประเทศที่ 6 ของบริษัทฯ
 
จับมือพันธมิตรลุยพลังงานลม

บริษัทฯ ไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพียงเท่านี้ ปัจจุบันกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ในมณฑลผิงตง ประเทศไต้หวัน กําลังการผลิตติดตั้ง 38 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้ได้มีการลงนาม MOU ร่วมกับ J&V Company เพื่อร่วมพัฒนาโครงการเพิ่มเติม และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในจังหวัดบาโก ประเทศฟิลิปปินส์ กําลังการผลิตติดตั้ง 150 เมกะวัตต์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปลายปี  2567 โดยประเมินมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 10,000 ล้านบาท
 
ตั้งเป้าหมายสู่ Net Zero Emission

“บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายการเป็น Net Zero Emission ตามกรอบแผนพลังงานชาติ ที่มีการกำหนดนโยบาย และมีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยมุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายใน ค.ศ. 2065 - 2070 (พ.ศ. 2608 - 2613) อยากให้นักลงทุนมองว่า SSP เป็นโรงไฟฟ้าทุกประเภท เพราะเราตั้งใจเป็น Renewable หรือ พลังงานที่ไม่มีวันหมด โดยเราจะพิจารณาเรื่องผลตอบแทน IRR เป็นหลัก ซึ่งหากเราเข้าลงทุนและสร้างผลตอบแทนได้เร็วก็พร้อมที่จะลงทุน และบริษัทฯ ตั้งเป้าหมายขยายพอร์ตโรงไฟฟ้าเติบโต 2 เท่าตัว ในปี 2571 มั่นใจว่าจะสร้าง New S -Curve ใหม่” นายวรุตม์ กล่าวในที่สุด
SSP