เมื่อวันที่ 30 ส.ค.67 ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ สภาผู้บริโภค ทนายความ พร้อมด้วยผู้เสียหาย เดินหน้ายื่นฟ้องบริษัท ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ จำกัด เป็นคดีแบบกลุ่ม (Class Action) กรณีหน้าจอโทรศัพท์มือถือรุ่นซัมซุง กาแล็กซี (Samsung Galaxy) หลายรุ่นพบปัญหาหน้าจอเป็นเส้น
นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมามีผู้บริโภคเข้ามาร้องเรียนกับสภาผู้บริโภคเกือบ 250 ราย กรณีพบปัญหาหน้าจอโทรศัพท์มือถือซัมซุง กาแล็กซี รุ่นต่างๆ เกิดเส้นสีเขียว หรือสีชมพูขึ้นบนหน้าจอ รวมถึงมีอาการเครื่องร้อนผิดปกติ หรือหน้าจอดับในบางราย และบางรายพบอาการหลังจากมีการอัพเดตระบบปฏิบัติการเวอร์ชั่นวัน ยูไอ
โดยเมื่อผู้บริโภคติดต่อไปยังศูนย์บริการซัมซุงได้รับคำตอบว่า อาจเกิดจากเครื่องหมดประกัน หรือบางรายได้รับคำตอบว่า อาจทำเครื่องตกหล่น หรือเครื่องเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน และต้องส่งซ่อม โดยผู้บริโภคต้องรับผิดชอบเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 7,000-15,000 บาท
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้สภาผู้บริโภคส่งหนังสือขอให้บริษัทชี้แจงและแก้ไขปัญหา แต่ไม่ได้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา ซึ่งการกระทำของบริษัทเข้าข่ายเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยไม่เป็นธรรม เกิดผลกระทบกับผู้บริโภคจำนวนมาก ที่ไม่สามารถใช้งานโทรศัพท์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดภาระค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมเพื่อให้ใช้งานได้ตามปกติ
สภาผู้บริโภคในฐานะผู้แทนของผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 ร่วมกับตัวแทนผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย จำนวน 119 ราย จึงยื่นคำร้องขออนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มเพื่อคุ้มครองสมาชิกกลุ่มที่ได้รับความเสียหายจากกรณีข้างต้น กับบริษัท ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ จำกัด (ประเทศเกาหลีใต้) และบริษัท ไทยซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ จำกัด (ประเทศไทย) ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ นายโสภณกล่าว
นายโสภณ กล่าวต่อว่า คดีนี้มีผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก สภาผู้บริโภคเห็นว่าการฟ้องเป็นคดีกลุ่มจะทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากได้รับประโยชน์มากกว่าการดำเนินคดีผู้บริโภคทั่วไป รวมถึงป้องกันมิให้คำพิพากษาของศาลขัดกัน และลดคดีที่ขึ้นสู่ศาลจำนวนมาก
อีกทั้งผลคดีจะทำให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายในลักษณะเดียวกันได้รับการชดเชยเยียวยาทั้งหมด ทำให้ผู้บริโภคได้รับความสะดวกและประหยัด ไม่เกิดภาระในการดำเนินคดี รวมทั้งยังเป็นการป้องปรามไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจทำพฤติกรรมเอาเปรียบผู้บริโภคแบบเดียวกันอีก
นายโสภณ กล่าวว่า การที่ผู้บริโภคใช้มือถือได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จนทำให้เสียโอกาสในการใช้งาน และการที่บริษัทไม่แก้ไข หรือชดเชยความเสียหายให้ เข้าข่ายละเมิดสิทธิผู้บริโภคในการที่จะได้รับการชดเชยเยียวยาเมื่อพบสินค้าที่ชำรุดบกพร่อง สภาผู้บริโภคจึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีกลุ่มเพื่อให้ผู้บริโภคจำนวนมากที่ได้รับความเสียหายในลักษณะเดียวกันได้รับการชดเชยเยียวยาทั้งหมด
และว่าแม้ปัจจุบันจะมีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับความรับผิดชำรุดบกพร่องของสินค้า เมื่อผู้บริโภคพบปัญหาสินค้าชำรุดบกพร่องตั้งแต่แกะกล่อง หรือใช้ไปได้สักระยะ ได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
แต่กฎหมายยังขาดขอบเขตความรับผิดของผู้ขายที่ชัดเจน สิทธิของผู้ซื้อยังคลุมเครือ และไม่มีคำนิยามที่กระจ่างของคำว่า ความชำรุดบกพร่อง จนทำให้เกิดช่องโหว่ที่ผู้ประกอบการไม่เกรงกลัวและสามารถเอาเปรียบผู้บริโภคได้ ขณะที่ผู้บริโภคต้องต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของตนเอง
สภาผู้บริโภคจึงเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า ฉบับสภาผู้บริโภค’ หรือที่เรียกว่าเลมอน ลอว์ (Lemon Law) เพื่อให้ผู้ซื้อสินค้าทุกคนได้รับการคุ้มครอง หากพบความชำรุดบกพร่องของสินค้า โดยสามารถใช้สิทธิได้ 5 กรณี ได้แก่ ขอซ่อม ขอเปลี่ยน ขอลดราคา ขอเลิกสัญญา
หรือขอปฏิเสธชำระค่างวดผ่อนสินค้า ปัจจุบันได้เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรแล้ว ร่วมกับการเสนอให้แก้ไขกฎหมายอีก 2 ฉบับ ได้แก่ การแก้ไข พ.ร.บ.อาหาร และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ที่กฎหมายฉบับปัจจุบันมีเนื้อหาที่ล้าสมัย ไม่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง
โดยสามารถดูรายละเอียดเนื้อหากฎหมายต่อที่เว็บไซต์สภาผู้บริโภค (https://www.tcc.or.th) ทั้งนี้ ในส่วนของการยื่นฟ้องซัมซุงเป็นคดีกลุ่ม ศาลจะนัดไต่สวนคำร้องเพื่อพิจารณาว่าจะรับคดีดังกล่าวเป็นคดีแบบกลุ่มหรือไม่ หากมีความคืบหน้าอย่างไร สภาผู้บริโภคจะแจ้งให้ผู้บริโภคทราบอย่างต่อไป” นายโสภณ กล่าว
สำหรับโทรศัพท์มือถือยี่ห้อซัมซุงที่พบปัญหา อ้างอิงจากข้อมูลที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามาที่สภาผู้บริโภค ได้แก่ รุ่น Samsung Galaxy Note 20 Ultra, Samsung Galaxy S20+, Samsung Galaxy S21 FE, Galaxy S24 Ultra, Samsung Galaxy S21, Samsung Galaxy S21 FE, Samsung Galaxy S21 S22 Ultra, Samsung Galaxy S22 Ultra
ที่มา : https://www.siamnews.com/view-117369.html