สัมภาษณ์พิเศษ : SM รับมือหนี้ครัวเรือนแตะ 90% เน้นสินเชื่อมีหลักประกัน “โทรศัพท์มือถือ”
ธุรกิจการปล่อยสินเชื่อจะมีแนวทางรับมือและสร้างรายได้อย่างไรในยุคที่หนี้ครัวเรือนอยู่ระดับสูง จนกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน ติดตามมุมมองนี้กับ “ชูศักดิ์ วิวัฒน์วงศ์เกษม” กรรมการผู้จัดการ บมจ.สตาร์ มันนี่ (SM)
ลักษณะการประกอบธุรกิจ SM
บริษัทมี 3 ธุรกิจหลักได้แก่
1.การให้สินเชื่อเงินกู้ยืม ได้แก่ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ สินเชื่อบุคคล ภายใต้การกำกับดูแลของธปท. สินเชื่อที่มีหลักประกัน สินเชื่อรถยนต์ โดยมีสัดส่วนประมาณ 92% ของพอร์ต
2.สินเชื่อเช่าซื้อ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ มีสัดส่วนประมาณ 8%
3.ธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัย ยังมีสัดส่วนที่น้อยประมาณ 1%
โดยบริษัทมีสาขาในปัจจุบัน 98 สาขา ใน 7 จังหวัดภาคตะวันออก และอีก 2 สาขา ที่อุดรธานี และโคราช
พอร์ทสินเชื่อของบริษัท
พอร์ทที่ใหญ่ที่สุดในขณะนี้ ยังเป็นสินเชื่อเงินให้กู้ยืม ซึ่งมีสัดส่วน 92% สินเชื่อเช่าซื้อประมาณ 8% ในส่วนของสินเชื่อเงินให้กู้ยืม หลักๆเป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 87% มอเตอร์ไซค์ 6% สินเชื่อที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สัดส่วน 6%
และสินเชื่อเช่าซื้อมีสัดส่วนประมาณ 8% ของพอร์ทรวม โดยแบ่งเป็นการปล่อยสินเชื่อให้กับโทรศัพท์ 49% และเครื่องใช้ไฟฟ้า 46%
เป้าหมายรายได้รวมในปีนี้
ปีนี้ตั้งเป้ารายได้รวมเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% โดยธุรกิจหลักในการสร้างรายได้จะมาจากการปล่อยสินเชื่อซื้อโทรศัพท์มือถือ ซึ่งบริษัทได้นำเทคโนโลยี Lock Phone มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บเงินชำระค่างวด และลดปัญหา NPL ได้อย่างชัดเจน โดยการชำระเงินงวดแรกปรับเพิ่มขึ้นเป็น 96% ในปัจจุบัน จากเดิมก่อนที่จะใช้อยู่ที่ 84% และเทคโนโลยี Lock Phone นี้ ยังเป็นสินค้า Flagship และเป็น Product Highlight ของปีนี้
คุมหนี้ NPL ด้วยการปล่อยสินเชื่อมีหลักประกัน
เศรษฐกิจไทยต้องยอมรับว่า ตั้งแต่ปีที่แล้วยังไม่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับที่สูงประมาณ 90% และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร การฟื้นตัวของเศรษฐกิจล่าช้า ประชาชนขาดความเชื่อมั่น ทำให้ SM ไม่เน้นการเติบโตมาก แต่เน้นในเรื่องของคุณภาพสินเชื่อเป็นหลัก
ส่วนการปล่อยสินเชื่อ การป้องกันการเกิดหนี้ NPL บริษัทได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อป้องกัน โดยเน้นการปล่อยสินเชื่อที่มีหลักประกันเป็นหลัก ส่วนสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันเราแทบจะไปปล่อยเลย สะท้อนได้จากพอร์ทสินเชื่อเงินกู้ยืมของเรา สัดส่วนถึง 99% เป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน รวมทั้งการใช้มาตรการการยืนยันตัวตนของลูกค้า หรือการตรวจสอบเครดิตบูโร การจัดอันดับสกอริ่ง
NPL อยู่ในระดับที่จัดการได้
สิ้นปี 2566 NPL บริษัทอยู่ที่ 3.6% แต่ในไตรมาสแรกที่หนี้ NPL ปรับเพิ่มขึ้น 4.9% เนื่องจากสินเชื่อรายใหญ่ 1 ราย มีปัญหาซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการทางกฎหมาย ถ้าตัดรายใหญ่นี้ออกเชื่อว่าพอร์ทสินเชื่ออยู่ในเกณฑ์ที่บริหารจัดการได้
ปี 67 จะเน้นธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ
เน้นที่สินเชื่อเช่าซื้อโดยเฉพาะ การใช้เทคโนโลยี Lock Phone ที่ช่วยลดหนี้ NPL ได้อย่างชัดเจน
โอกาสขยายตลาดในภาคตะวันออก
เรามองเป็นโอกาสในการขยายการเติบโตของธุรกิจ โดยเมื่อใช้เทคโนโลยี Lock Phone ทำให้การเก็บเงินดีขึ้น ทำให้เราจะรุกตลาดนี้ให้มากขึ้น เพราะในภาคตะวันออกมีสถานประกอบการกว่า 50,000 บริษัท มีคนงาน 2 ล้านคน ยังเป็นลูกค้าของบริษัทยังไม่มาก จึงเป็นตลาดที่ใหญ่และมีศักยภาพในการเติบโต
ธุรกิจที่บริษัทจะเน้นในภาคตะวันออก
เป็นสินเชื่อเช่าซื้อ โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้าและโน้ตบุ๊ค ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย โดยมูลค่ารวมของตลาดในภาคตะวันออกอยู่ที่ 55,000 เป็นของSM 700 กว่าล้านบาท หรือประมาณ 1.4% และมูลค่าตลาดโทรศัพท์อยู่ที่ 8,000 ล้าบบาท เป็นของSM 260 ล้านบาท หรือประมาณ 1% เท่านั้น ดังนั้นจึงยังมีโอกาสในการเติบโตได้อีกมาก
มองคู่แข่งในภาคตะวันออกอย่างไร
พื้นที่ EEC ใน 7 จังหวัดภาคตะวันออก เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ มีการเติบโตสูง ทำให้มีคู่แข่งเข้ามามาก แต่ส่วนใหญ่ ที่คู่แข่งจะทำตลาดในเรื่องของสินเชื่อเงินให้กู้ยืม จำนำทะเบียนรถ แต่ในหมวดของเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ยังไม่มีมาก การแข่งขันไม่ดุเดือด
จุดแข็งของ SM ในการทำตลาดสินเชื่อเช่าซื้อ
ในการบุกตลาดสินเชื่อเช่าซื้อ เนื่องจากอัตราผลตอบแทนดี มียีลด์ที่สูง เพราะสินเชื่อเครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่ได้ถูกควบคุมเรื่องดอกเบี้ยจากทางการ แต่ถ้าเป็นสินเชื่อเงินกู้ยืม จำนำทะเบียน สินเชื่อที่ดิน จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแล ทำให้ดอกเบี้ยที่คิดกับลูกค้าจะไม่สูงมาก ซึ่งบริษัทกำลังอยู่ในช่วงของการปรับพอร์ท จากสินเชื่อกู้ยืม ให้เป็นสินเชื่อเช่าซื้อให้มากขึ้น เพื่อให้รายได้เติบโตได้มากขึ้น
กลยุทธ์การเติบโตด้านออฟไลน์ในปีนี้
1.เน้นเพิ่มช่องทางการขายให้มากขึ้น ปัจจุบันจะเพิ่มช่องทางไปที่ออนไลน์ และออฟไลน์ให้มากขึ้น และจะให้สาขาที่มีทั้ง 90 กว่าสาขา ทำหน้าที่ในการขายสินค้า โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ
2.เพิ่มพื้นที่Shop หรือเอาท์เลทให้มากขึ้น ในพื้นที่ภาคตะวันออก3.เจาะตลาดสถานประกอบการ หรือ Corporate
4.ร่วมมือกับพันธมิตรร้านตู้โทรศัพท์มือถือ ตามห้างสรรพสินค้า หรือแหล่งชุมชนต่างๆ เช่นการใช้รถโมบาย ไปให้บริการตามที่ต่างๆ ทำเลที่มีศักยภาพ นิคมอุตสาหกรรม ตลาดนัด
ส่วนช่องทางออนไลน์ เน้นช่องทางที่มีศักยภาพ หลัก แพลตฟอร์มติ๊กตอก คาดว่าไตรมาส 4 ปีนี้จะเริ่มขายสินค้าได้ โดยเริ่มต้นเน้นประเภท มือถือ
การปรับดอกเบี้ยมีผลต่อธุรกิจของ SM
คาดว่า กนง. น่าจะปรับลดดอกเบี้ยในปีหน้า (2568) และแม้ปีนี้ทางการจะยังไม่ลดดอกเบี้ย แต่เราเชื่อว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ในปีนี้จะสูงกว่าปี2566 เนื่องจากบริษัทมีการปรับดอกเบี้ย (Yield) ของสินเชื่อเช่าซื้อ ในหมวดของโทรศัพท์มือถือ แม้ต้นทุนทางการเงินจะอยู่ในระดับสูงแต่Yield ที่สูงทำให้ NIM เราสูงขึ้น
หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง 90% ทำให้ปล่อยสินเชื่อยากขึ้น
ต้องยอมรับว่าหนี้ครัวเรือนที่อยู่สูงกระทบความสามารถในการชำระเงินลูกค้า เพราะปีนี้เม็ดเงินในระบบมีน้อยลง เนื่องจากการอนุมัติเงินงบประมาณของรัฐบาล มีความล่าช้ากว่าปกติ ขณะที่การส่งออกก็ชะลอตัว แม้การท่องเที่ยวจะดีขึ้น แต่การใช้จ่ายต่อหัวน้อยลง ทำให้การปล่อยสินเชื่อต้องมีความเข้มงวดมากขึ้น
การปล่อยสินเชื่อลูกค้าต่างจังหวัดแตกต่างจากกรุงเทพ
ส่วนของลูกค้าเงินกู้ยืม ดอกเบี้ยมีผลน้อยกว่าลูกค้าที่เป็นกลุ่มเช่าซื้อ เนื่องจากลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการเป็นกลุ่มที่เข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงินยาก เนื่องจากต้องมีหลักฐานเอกสารมาก ซึ่งเวลาลูกค้าต้องการเงินจึงต้องการ 2 อย่าง ได้แก่ สะดวกรวดเร็ว ไม่ยุ่งยาก และขอวงเงินสินเชื่อมากกว่าธนาคาร แม้ดอกเบี้ยแพงก็ไม่มีปัญหา เนื่องจากดอกเบี้ยที่ต่างกัน เมื่อเทียบกับมาเป็นยอดผ่อนชำระแล้วมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละงวดที่ชำระไม่มาก