“การเป็นหนี้ และจ่ายต่อไม่ไหว” เป็นอีกหนึ่งในปัญหาทางการเงินของคนไทยหลายคน และเป็นเรื่องที่ทำให้เรารู้สึกเครียด บางคนไม่รู้จะแก้ปัญหายังไง หาทางออกไม่ถูก จนทำให้เกิดพฤติกรรมหลบหนีหนี้
4 สัญญาณที่ทำให้รู้ว่าเราเริ่มจ่ายหนี้ไม่ไหว
1. เริ่มใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือน
สัญญาณแรกที่หลายคนน่าจะประสบเหมือนกัน คือ การใช้เงินแบบเดือนชนเดือน เมื่อได้มีรายได้เข้ามาก็นำไปใช้จ่าย รวมถึงนำไปจ่ายหนี้สินต่าง ๆ ทำให้ไม่มีเงินเหลือเก็บ หรือไม่มีเงินเหลือต่อเดือนจนขาดสภาพคล่อง
2. ผ่อนชำระตามจำนวนยอดหนี้ขั้นต่ำ
หากเราเริ่มจ่ายเงินชำระในแต่ละเดือนเท่ากับจำนวนขั้นต่ำที่กำหนด แสดงว่าเราเริ่มมีปัญหาด้านการเงินแล้ว อาจจะใช้เงินเยอะเกินตัวจนเหลือเงินน้อยลงกว่าเมื่อก่อน ทำให้มีเงินพอแค่ชำระขั้นต่ำต่อเดือน
3. เริ่มชำระหนี้ล่าช้า
เริ่มชำระหนี้ต่าง ๆ ล่าช้า ชำระไม่ตรงเวลา หรือบางครั้งก็อาจไม่ชำระในบางเดือน เป็นสัญญาณที่สะท้อนได้ว่าเราเริ่มจ่ายหนี้ไม่ไหว และอาจมีปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีก
4. ขายทรัพย์สินเพื่อนำเงินมาชำระหนี้
เมื่อเราเริ่มหาสินทรัพย์ส่วนตัวออกมาขาย ตัดใจขายสินทรัพย์ที่เรารัก เพื่อนำเงินไปจ่ายชำระหนี้ต่าง ๆ แสดงว่าเริ่มมีปัญหาทางการเงิน ไม่มีเงินใช้เพียงพอต่อเดือนจนต้องหาวิธีที่ทำให้มีเงินไปจ่ายชำระหนี้
ใครที่กำลังมีพฤติกรรมแบบนี้แสดงว่าเราเริ่มมีปัญหาทางการเงินเข้าแล้ว แนะนำให้รีบหาทางแก้ก่อนจะสายเกินไป
ทำไมเราถึงควรรีบแก้ปัญหาหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลให้เร็วที่สุดเมื่อมีสัญญาณว่าจะไปต่อไม่ไหว
1. ติดเครดิตบูโร ทำให้กู้ยากขึ้น
โดยปกติทางธนาคารจะมีส่งรายงานข้อมูลการชำระหนี้ของเราไปที่บริษัทข้อมูลแห่งชาติอยู่แล้ว เมื่อเราชำระหนี้ล่าช้า หรือมีการค้างชำระหนี้แล้ว ข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งไปให้บริษัทข้อมูลแห่งชาติอย่างแน่นอน หากเรามีประวัติที่ไม่ดีจะส่งผลทำให้ในอนาคตเมื่อไปขอกู้สินเชื่อก็จะอนุมัติผ่านยากขึ้น หรืออาจจะขอกู้ไม่ผ่านเลย
2. เสียเวลาในการถูกฟ้องร้องคดีแพ่ง
หากเลยกำหนดเวลาชำระหนี้แล้วไม่ไปชำระหนี้กับธนาคารเป็นเวลานาน ทางธนาคารจะเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายเป็นลำดับถัดไป ซึ่งก็คือ การฟ้องร้องดำเนินคดีกับศาลเพื่อให้ชำระหนี้คืน จะเป็นคดีแพ่งที่ไม่มีการติดคุกถ้าแพ้คดีความ แต่กระบวนการ และขั้นตอนต่าง ๆ มีความยุ่งยาก และใช้ระยะเวลาในการดำเนินการนานพอสมควร
3. การบังคับคดี ยึดทรัพย์ และอายัดเงินเดือน
ในกรณีที่เข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีแล้ว และมีคำพิพากษาว่าเรา (ลูกหนี้) แพ้คดี จะมีทางเลือกให้เลือกอยู่ 2 วิธีหลัก ๆ คือ
1. หากยังสามารถหาทางในการหาเงินมาชำระหนี้ก้อนนี้ได้ จะต้องชำระคืนตามเงื่อนไขที่ศาล
2. ในกรณีที่ไม่สามารถชำระเงินคืนได้เลย เจ้าหนี้จะดำเนินการบังคับคดี ยึดทรัพย์ และอายัดเงินเดือน
6 วิธีจัดการหนี้เมื่อรู้สึกจ่ายหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลไม่ไหว
1. ปรึกษาธนาคาร หรือสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้
เข้าไปเจรจากับธนาคาร หรือสถาบันการเงินที่เรากู้สินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ เพื่อเจรจาประนอมหนี้ หรืออาจเข้าไปปรึกษา และตกลงวางแผนชำระร่วมกัน เช่น ขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระ ขอลดอัตราดอกเบี้ย ขอหยุดการคิดอัตราดอกเบี้ยชั่วคราว เป็นต้น
2. รวมหนี้เป็นก้อนเดียว
หากในวันนี้เรามีหนี้สินอยู่หลายที่ จะให้หาเงินก้อนไปปิดหนี้ทั้งหมดพร้อมกันคงจะไม่ไหว แนะนำให้รวบรวมข้อมูลหนี้สินทั้งหมดที่มีมากองรวมกันก่อน เพื่อดูว่าตอนนี้มีอะไรบ้าง แต่ละรายการหนี้มีอัตราดอกเบี้ยต่อปีเท่าไหร่ มียอดหนี้คงเหลือเท่าไรบ้าง หลังจากนั้นเรานำมารวมกันเป็นหนี้ก้อนใหญ่ และสามารถขอรีไฟแนนซ์สินเชื่อส่วนบุคคลได้เหมือนกันนะ เป็นการรวมหนี้หลายสัญญาเอาไว้เหลือสัญญาเดียวกับธนาคารเจ้าหนึ่ง แล้วทยอยผ่อนจ่ายรายเดือน สามารถเลือกระยะเวลาการผ่อนชำระได้เอง
สินเชื่อส่วนบุคคลกรุงศรีตอบโจทย์ในกรณีอยากรวมหนี้เลย ยื่นกู้ง่าย ๆ ผ่านเว็บไซต์ หรือผ่าน KMA krungsri app ก็ได้ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่
3. ปรับโครงสร้างหนี้
การปรับโครงสร้างหนี้ เป็นการเปลี่ยนเงื่อนไขการจ่ายหนี้เพื่อให้เรายังสามารถชำระหนี้ต่อได้โดยไม่ผิดนัดชำระ ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้มีทางเลือกหลากหลายวิธี เช่น ขยายเวลาชำระหนี้ พักชำระเงินต้น ลดอัตราดอกเบี้ย เปลี่ยนประเภทหนี้ เป็นต้น แต่ละแบบก็เหมาะกับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน และมีผลแตกต่างกันต่อประวัติเครดิตบูโร แนะนำให้ปรึกษากับธนาคารหรือสถาบันการเงินก่อนตัดสินใจ
4. ไม่สร้างหนี้ใหม่
ไม่ควรจะสร้างหนี้ก้อนใหม่เพิ่ม ถ้าหนี้ก้อนเดิมยังชำระไม่หมด ยกเว้นว่าสามารถกู้หนี้ก้อนใหม่มาจ่ายหนี้ก้อนเก่าให้หมด โดยหนี้ก้อนใหม่จะต้องมีอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่า หรือเรียกอีกอย่างได้ว่า เป็นการรวมหนี้สินจากหลายที่ให้เป็นก้อนเดียว เพื่อขออนุมัติสินเชื่อกับอีกแห่งหนึ่ง แล้วเราค่อยผ่อนชำระรายเดือนกับธนาคารเจ้าใหม่แทน
5. มีเงินก้อนให้รีบโปะหนี้
เมื่อมีรายได้ก้อนใหม่เข้ามาหรือเมื่อเงินเดือนออกแล้วก็ควรจะแบ่งเงินส่วนหนึ่งมาทยอยโปะหนี้ในทุก ๆ เดือน และควรชำระหนี้ให้ตรงเวลา ถ้าสามารถชำระหนี้ให้มากกว่ายอดเรียกเก็บเงินขั้นต่ำหรือโปะเพิ่มได้มากกว่าค่างวดที่ต้องจ่ายทุกเดือน ก็จะช่วยให้ตัดเงินต้นและประหยัดดอกเบี้ยได้เยอะ
6. ปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
หลายคนอาจจะประสบปัญหาเงินไม่พอใช้จ่ายในแต่ละเดือน โดยส่วนใหญ่สาเหตุหลักมาจากการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเยอะจนเกินไป หรืออาจจะใช้จ่ายเยอะเกินความจำเป็นโดยที่ไม่รู้ตัว วิธีแก้ง่าย ๆ คือ สำรวจค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนก่อน เพื่อดูว่ามีค่าใช้จ่ายรายการไหนบ้างที่เกินความจำเป็นและเราสามารถลดส่วนนั้นได้
สุดท้ายนี้ หากกำลังรู้สึกว่าตัวเองมีหนี้สินเยอะจนเริ่มผ่อนต่อไม่ไหว เราควรจะเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์เหล่านั้น โดยแนะนำให้เข้าไปพูดคุยเล่าถึงสถานการณ์ทางการเงินที่เราประสบอยู่ให้เจ้าหนี้ เพื่อปรึกษา และเจรจาขอประนอมหนี้จะดีกว่า และรีบแก้ปัญหาก่อนที่จะบานปลาย สำหรับคนที่ไม่รู้จะปรึกษาใครดี สามารถเข้ามาปรึกษากับธนาคารกรุงศรีฯ ได้ทุกสาขาทั่วประเทศได้เช่นกัน
ที่มา : https://www.krungsri.com/th/krungsri-the-coach/loan/borrowing/6-tips-exit-debt-personal-loan