จับประเด็นหุ้นเด่น

สัมภาษณ์พิเศษ : SUPER จับมือผนึกพันธมิตรลุยพลังงานสะอาด ดันรายได้ปีนี้แตะ 1.1-1.2 หมื่นล้านบาท


04 กันยายน 2567
ภายใต้กระแสการลดภาวะโลกร้อน และการสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานทดแทนจะมีแนวทางการทำธุรกิจและมีบทบาทอย่างไรในอุตสาหกรรมนี้ เราไปติดตามการสัมภาษณ์นี้กับ “คุณจอมทรัพย์ โลจายะ" CEO ของบริษัทกัน 

สัมภาษณ์พิเศษ SUPER จับมือผนึกพันธมิตรลุยพลั.jpg

ผลงานครึ่งแรกปี 67
ครึ่งปีแรกรายได้ของเราอยู่ที่ประมาณ  5,100  ล้านบาท  เป็นกำไรจากการดำเนินงานของบริษัท  EBITDA อยู่ที่ 86%   การขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้บริษัทมีผลขาดทุน 

แนวทางครึ่งหลังปี 67 
กระแสเงินสดบริษัทยังค่อนข้างแข็งแกร่งมาก EBITDA   และจากการที่ทำดิว ดึงพันธมิตร Actis เข้ามาลงทุนใน บริษัท ทานตะวัน โซล่าร์ จำกัด (SUNFLOWER)  ทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดเข้ามาอีก เกือบ 4,900  ล้านบาท   และเดือนก.ย. จะใช้เงินส่วนนี้ตัดหนี้บางส่วนประมาณ 3,300  ล้านบาท  ทำให้ประหยัดค่าดอกเบี้ยลงได้  และเงินสดที่เหลือจะนำไปใช้โครงการที่บริษัทเข้าประมูลได้ซึ่งมีจำนวน 360 MW ที่ต้องสร้างในช่วง 3 ปีข้างหน้า

ทิศทางการเติบโตของรายได้ปีนี้ 
ปีนี้เราวางไว้ที่ 11,000-12,000 ล้านบาท  เติบโตปีละ 10% ต่อเนื่อง 3 ปีข้างหน้า  ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีโครงการ PPA แล้วและอยู่ระหว่างการลงนามใน PPA  ที่ต้องสร้างในด้านพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมดประมาณ 600 MW   ด้านพลังงานลมต้องสร้างประมาณ 85 MW  ซึ่งเป็นโครงการในประเทศไทยจะเสริมกระแสเงินสดของบริษัทให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง

วางเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าในปี 67 
หลักๆรายได้ของSUPER มาจาก 2 ประเทศ  โดยประเทศไทยยังเป็นหลัก และประเทศเวียดนาม  รายได้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม  โดยในประเทศไทยรายได้ 60% มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ และเวียดนาม 40%  และช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า  บริษัทจะCOD พลังงานลมในเวียดนาม 141  MW   ทำให้สัดส่วนรายได้ในเวียดนานเพิ่มขึ้นประมาณ 10%  แต่ปี 2569-2570   พลังงานที่จะสร้างจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยและพลังงานลมอีก 85 MW   ดังนั้นสัดส่วนรายได้จากประเทศไทย ภายใน 3 ปีจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 75% และรายได้จากเวียดนามอยู่ที่ 25%  

เน้นขยายการผลิตพลังงานในประเทศ 
เพราะเราเป็นบริษัทของคนไทย และนโยบายของรัฐบาลที่ขยายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง เพราะมีนักลงทุนจากต่างประเทศ หรือ FDI เข้ามาและมีความต้องการใช้พลังงานสะอาด  ทำให้รัฐบาลเปิดประมูลการขายไฟอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2566  ที่ผ่านมาและต่อเนื่องอีกอย่างน้อยในปีนี้และปีหน้า  ดังนั้นการเติบโตในประเทศไทยยังมีค่อนข้างมาก ส่วนในประเทศเวียดนามเชื่อว่าปี2567 แผนPDP8 น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น  ทำให้เห็นเรื่องสัมปทานเพิ่มเติมขึ้นอีก  ซึ่งเราต้องติดตามอย่างใกล้ชิด  

แนวทางการร่วมมือกับพันธมิตร
นับเป็นแผนหลักของเราในการบริหารจัดการ  ซึ่งทำมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว ที่เราเป็นพันธมิตรกับ AC ENERGY VIETNAM INVESTMENTS PTE. LTD. (ACEV) บริษัทชั้นนำธุรกิจพลังงานทดแทนของประเทศฟิลิปปินส์ เข้าไปทำโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในประเทศเวียดนาม  โดยSUPER ถือหุ้น 51%   ต่อมาเมื่อต้นปีได้เป็นพันธมิตรกับกลุ่ม Actis กองทุนจากประเทศอังกฤษ เข้ามาลงทุนใน บริษัท ทานตะวัน โซล่าร์ จำกัด (SUNFLOWER) โดย กลุ่ม Actis ถือหุ้น 90% และSUPER ถือ 10% และยังทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการเรื่องบัญชีและการเงินให้  เราได้กระแสเงินสดเข้ามา 4,800  ล้านบาท   ซึ่งเงินบางส่วนนำไปตัดหนี้ 3,300 ล้านบาท 

เรื่องของพันธมิตรเรายังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง  เช่น ส่วนของโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ เราได้ดึงพันธมิตรเข้ามาร่วมแล้วในโครงการนนทบุรี  เป็นพันธมิตรจากประเทศจีน  และเรากำลังพันธมิตรในโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเข้ามาอีก 2-3 ราย  
สำหรับการดึงพันธมิตรเข้ามา  จะทำให้บริษัทมี Know How เข้ามาด้วยทำให้การทำงานทำได้ดีขึ้น และยังได้รับในเรื่องของกระแสเงินสดเข้ามาสนับ
สนุน ทำให้เรามีกำไรพิเศษ  

ส่วนพลังงานลมกำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมจำนวน 50MW  และยังมีอีก 140 MW   และพลังงานน้ำก็มีคนสนใจเข้ามาร่วมลงทุนกันบริษัท ขยายธุรกิจในเรื่องของบ่อน้ำ และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC เพราะตอนนี้ เงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาเยอะมาก  ในอุตสาหกรรมต่างๆ เนื่องจากฐานการผลิตกำลังถูกย้ายมาจากไต้หวัน จากจีน   ทำให้เรามองว่าน้ำจะขาดแคลนอย่างมากในช่วง 2-3  ปีข้างหน้า   

สรุปภาพรวมในด้านธุรกิจ
ภาพรวมของ SUPER จะมีพันธมิตรเข้ามาในแต่ละส่วนธุรกิจ  ทั้งแสงอาทิตย์  ลม  ขยะ และน้ำ   ซึ่งตามแผนแล้วจะดึงพันธมิตรเข้ามาช่วยให้ความรู้และกระแสเงินสด  เพื่อลงทุนได้ต่อเนื่อง

แผนการออกหุ้นกู้  
เดือนต.ค. เราจะระดมทุนผ่านหุ้นกู้จำนวน 800  ล้านบาท  เพื่อเอาไปชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดจำนวน 1,500  ล้านบาท  ซึ่งอีก 700 ล้านบาท จะนำมาจากกระแสเงินสดของบริษัท 

การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลโครงการโรงไฟฟ้าไม่กระทบ
คิดว่าพลังงานสะอาดไม่น่าจะเกี่ยวกับรัฐบาล เพราะไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็ต้องสนับสนุน เพราะประเทศไทยต้องการนักลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ  ซึ่งสิ่งที่นักลงทุนต้องการคือเรื่องของพลังงานสะอาดที่ต้องมีเพียงพอกับความต้องการใช้  ดังนั้นเชื่อว่าทุกรัฐบาลต้องสนับสนุน

นโยบาย Direct PPA เป็นก้าวแรกที่ดี
เป็นก้าวแรกที่ดีที่ทำให้เอกชนสามารถซื้อ-ขายไฟฟ้าระหว่างกันได้มากขึ้น  และอนาตคต้องดูความต้องการของการใช้ไฟฟ้า  ซึ่งมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลจะเปิดประมูลไฟฟ้าพลังงานสะอาดอีก 3,600  MW  ในช่วงปลายปีนี้