รายงานพิเศษ : PCC ธุรกิจอินเทรนด์รายได้-กำไร 6 เดือน ตอกย้ำความแข็งแกร่ง
บมจ.พรีไซซ คอร์ปอเรชั่น (PCC) ผู้นำในธุรกิจเกี่ยวกับไฟฟ้าแบบครบวงจร ตั้งแต่การขายอุปกรณ์ไฟฟ้า การก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูง และการวางระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ซึ่งเป็นธุรกิจที่อยู่ในกระแสการประหยัดพลังงาน และยังเป็นธุรกิจที่มีความแข็งแกร่ง สะท้อนจากผลงาน6 เดือนแรกของปีและแนวโน้มปีนี้ที่ยังโดดเด่น ตามการใช้ไฟฟ้าที่เป็นขาขึ้น
โดย นายกิตติ สัมฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ PCC ผู้นำในธุรกิจเทคโนโลยีแพลตฟอร์มครอบคลุมอุตสาหกรรมสมาร์ทกริดของประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลประกอบการงวด 6 เดือนปี 2567 บริษัทฯมีรายได้รวมอยู่ที่ 2,757.46 ล้านบาท คิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.06 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 2,240.65 ล้านบาท โดยสัดส่วนโครงสร้างรายได้ แบ่งเป็น รายได้จากการขาย ร้อยละ 49.9 รายได้จากการให้บริการและโครงการก่อสร้าง ร้อยละ 49.6 และรายได้อื่นๆ ร้อยละ 0.4
ทั้งนี้ รายได้จากการขายในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 139.49 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11.3% เนื่องจากการขายสินค้าให้กลุ่มลูกค้าภาครัฐและเอกชนที่เป็นผู้รับเหมาหลักของงานสถานีไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ปัจจัยหลักมาจากกลุ่มผลิตภัณฑ์ ดังนี้1. รายได้ขายกลุ่มสินค้าหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย
2.รายได้ขายกลุ่มสินค้าสวิตช์ตัดตอนชนิดต่างๆ ได้แก่ โหลดเบรคสวิตซ์
3. รายได้ขายระบบควบคุมและป้องกันสำหรับสถานีไฟฟ้า
4. รายได้ขายอุปกรณ์ไฟฟ้า ได้แก่ มิเตอร์ และ อุปกรณ์รีเลย์ป้องกัน
ขณะที่รายได้จากการให้บริการและโครงการก่อสร้างในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 378.21 ล้านบาท หรือคิดเป็น 38.2% ปัจจัยหลักคือ การเพิ่มขึ้นของรายได้สำหรับงานบริการก่อสร้าง ดังนี้
1. งานก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูง จากงานโครงการสถานีไฟฟ้าแรงสูง 500/230 kV แม่เมาะและลำพูน
2. งานระบบควบคุมสำหรับระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ
3. งานบริการจัดหาและติดตั้งอุปกรณ์ระบบควบคุมอุปกรณ์ในระบบจำหน่าย จากงานโครงการติดตั้ง ขยายของงาน FDI (Feeder Device Interface) 4 ภาค ซึ่งเป็นสัญญาต่อเนื่องของงานโครงการ SCADA ที่จบโครงการไปแล้ว
4. งานบริการจัดหาและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูง จากการงานติดตั้งอุปกรณ์ โหลดเบรกสวิตซ์
สำหรับนโยบายการผลิตไฟฟ้าของไทย นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (PDP 2024) ว่า เมื่อพิจารณาตามแผน PDP ฉบับใหม่ ยังคงมีกิจกรรมการลงทุนในภาคไฟฟ้าตามแผน PDP อย่างต่อเนื่อง จากการลงทุนของโรงไฟฟ้าที่มีข้อผูกพันไว้แล้วและที่จะเปิดรับเพิ่มเติมตามแผนในช่วงก่อนปี 2573 มากกว่า 650,000 ล้านบาท ประกอบด้วย
- พลังงานหมุนเวียนประมาณ 13,300 MW คิดเป็นมูลค่าลงทุนประมาณ 525,000 ล้านบาท
- โรงไฟฟ้าฟอสซิลประมาณ 5,300 MW คิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ 125,000 ล้านบาท
โดยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีมากขึ้นจะนำไปสู่โครงสร้างระบบไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์และธุรกิจไฟฟ้ารูปแบบใหม่ที่จะต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้สามารถรองรับได้ และยังมีแผนสมาร์ทกริดที่จะมารองรับการเปลี่ยนผ่านนี้ โดยมีแผนงานที่คิดเป็นเงินลงทุนทั้งแผนอีกประมาณกว่า 400,000 ล้านบาท
ทั้งนี้แผนดังกล่าวยังได้ตอบโจทย์เรื่องความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของโลกที่สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด ตามที่ประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายการลดคาร์บอนในระหว่างการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) โดยมีเป้าหมายในการเป็นกลางทาง คาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608